Categories
ขนมไทย

ขนมข้าวเหนียวแก้ว เปลี่ยนข้าวเหนียวธรรมดาเป็นขนมไทยมงคล

ขนมข้าวเหนียวแก้ว
ขนมข้าวเหนียวแก้ว เปลี่ยนข้าวเหนียวธรรมดาเป็นขนมไทยมงคล

เมนูขนมไทยที่เราได้หยิบยกมานำเสนอให้ทุกคนได้ลองทำตามกันในวันนี้ คือขนมไทยที่ทำจากข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักมารังสรรค์จนกลายเป็นขนมไทยที่มีรสชาติหวาน มัน เค็มนิด ๆ กลมกล่อมแบบสุด ๆ ทั้งยังมีกลิ่นหอมของกะทิ งาขาวคั่ว และใบเตยในขณะที่รับประทาน ขนมชนิดนี้คือ ขนมข้าวเหนียวแก้ว ในอดีตนั้นนิยมทำรับประทานกันในช่วงเทศกาลงานบุญต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน ประเพณีปอยหลู่ข้าวหย่ากู๊ (ประเพณีของชาวไทใหญ่ ที่ทำการเกษตร จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงบุญคุณของข้าว จึงมักจะนำขนมชนิดนี้มาทำเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี แต่ส่วนใหญ่จะทำขนมข้าวเหนียวแดง

ขนมข้าวเหนียวแก้ว
ขนมข้าวเหนียวแก้ว เปลี่ยนข้าวเหนียวธรรมดาเป็นขนมไทยมงคล

วัตถุดิบในการทำข้าวเหนียวแก้วมีเพียงไม่กี่ชนิด

ขนมข้าวเหนียวแก้วเป็นขนมไทยที่ทำจากวัตถุดิบหาง่าย เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น จึงเป็นขนมไทยที่เราสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน สำหรับข้าวเหนียวที่นำมาใช้นั้นจะเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูกลางปี หรือข้าวเหนียวเก่า เพราะจะทำให้เม็ดข้าวนั้นออกมาสวย ไม่แตกหักง่าย แต่ก็ต้องอาศัยการล้างหลายครั้ง และหากใครชื่นชอบสีอื่น ๆ นอกจากสีเขียวของใบเตยก็สามารถปรับเปลี่ยนเป็นสีอื่น ๆ ได้ตามชอบเลยค่ะ 

  1. ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเก่า 1 กก.
  2. กะทิ 1000 มิลลิลิตร
  3. น้ำตาลทรายขาว 700 กรัม
  4. น้ำใบเตย 150 มิลลิลิตร
  5. เกลือป่น 1 ช้อนชา
  6. งาขาวคั่วตามชอบ
ขนมข้าวเหนียวแก้ว
ขนมข้าวเหนียวแก้ว เปลี่ยนข้าวเหนียวธรรมดาเป็นขนมไทยมงคล

ขั้นตอนวิธีการทำขนมไทยสีสันสวยงาม

สำหรับขั้นตอนวิธีการทำขนมไทยสีสันสวยงาม รังสรรค์ได้ตามชอบอย่าง ขนมข้าวเหนียวแก้วนี้ ต้องขอบอกเลยว่าสามารถทำได้ง่ายมาก แต่ก็ต้องใช้เวลาในการทำที่นานเสียหน่อย จึงเหมาะกับคนที่มีเวลาว่างจริง ๆ หรือหากใครจะแช่ข้าวเหนียวเขี้ยวงูทิ้งไว้ก่อนทำก็ได้นะคะ เพื่อลดเวลาในการทำลงไป หากใครอยากลองทำขนมไทยชนิดนี้กันแล้ว มาดูวิธีการทำแบบง่าย ๆ ที่เรานำมาฝากกันเลยค่ะ

  1. เริ่มต้นจากการนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูไปล้างด้วยน้ำสะอาดประมาณ 3 – 4 รอบ หรือจนกว่าน้ำที่ใช้ล้างจะใส เสร็จแล้วแช่น้ำทิ้งไว้เป็นเวลา 4 ชั่วโมง
  2. เมื่อแช่ข้าวเหนียวเขี้ยวงูในน้ำไว้จนครบเวลาแล้ว ให้เตรียมหม้อนึ่งให้ร้อน และห่อข้าวเหนียวเขี้ยวงูด้วยผ้าขาวบางก่อนนำไปนึ่งเป็นเวลา 40 นาที
  3. ใส่กะทิ เกลือป่น และน้ำตาลทรายขาวลงไปในชามผสมแล้วคนให้ส่วนผสมละลายเข้ากันดี (ในขั้นตอนนี้ให้ลองชิมน้ำกะทิดูนะคะ หากต้องการเพิ่มรสชาติก็สามารถเติมได้เลย)
  4. นำข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่นึ่งสุกแล้วใส่ลงไปในชามผสม ใช้ทัพพีเกลี่ยเล็กน้อยให้เนื้อข้าวเหนียวเขี้ยวงูไม่จับตัวกันจนเกินไป จากนั้นใส่น้ำกะทิลงไปคนให้เข้ากันได้เลย เสร็จแล้วปิดฝาชามผสมพักไว้ประมาณ 30 นาที
  5. ใช้ทัพพีคนให้ข้าวเหนียวเข้ากันแล้วใส่น้ำใบเตยลงไปเพิ่มสีสัน และคนให้เข้ากันอีกครั้ง 
  6. ใส่ส่วนผสมของขนมข้าวเหนียวแก้วที่เตรียมไว้ลงไปในหม้อ จากนั้นเปิดเตาด้วยไฟอ่อน ใช้ทัพพีกวนตลอดเวลาจนกว่าเนื้อขนมจะแห้ง เพื่อป้องกันเนื้อขนมไหม้ติดก้นหม้อค่ะ เมื่อเนื้อขนมแห้งได้ที่แล้วให้ปิดเตา ตักออกมาพักไว้ให้เย็น จากนั้นจึงนำไปตักใส่ภาชนะตามชอบ โรยด้วยงาขาวคั่ว เป็นอันเสร็จสิ้น
Categories
ขนมไทย

ขนมไข่นกกระทา ขนมไทยหลากชื่อ

ขนมไทย
ขนมไข่นกกระทา ขนมไทยหลากชื่อ

ขนมไข่เต่า ขนมไข่หงส์ ขนมไข่นกกระทา ล้วนเป็น ขนมไทย อย่างเดียวกัน แต่จะเรียกแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ เรียกตามลักษณะของขนมที่เป็นก้อนกลม แต่ชื่อแรกเลยก็คือ ขนมไข่เต่า แต่เนื่องจากเป็นสัตว์สงวน จึงเปลี่ยนมาเรียกเป็นชื่ออื่นแทน เป็นขนมกรอบนอกนุ่มใน หวานมันลงตัว อร่อยติดปากสุด ๆ ทั้งยังมีราคาที่ถูก สามารถทำได้ง่าย เป็นสาเหตุให้ขนมไทยชนิดนี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในอดีตนั้นจะทำขนมชนิดนี้กันในงานเลี้ยง เช่น งานมงคลสมรส เป็นต้น และถูกปรับปรุงเพิ่มรสชาติต่าง ๆ เข้ามามากมาย เช่น รสมันม่วง รสชีส รสช็อคโกแลต หรือแม้แต่รสสตอรว์เบอร์รี่

ขนมไทย
ขนมไข่นกกระทา ขนมไทยหลากชื่อ

วัตถุดิบในการทำขนมไข่นกกระทา ขนมโบราณหาทานง่าย

ขนมไทย นั้นเป็นขนมที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยออกมาได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่จะใช้แป้ง ไข่ และกะทิเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหาได้ง่ายมากในปัจจุบัน ขนมไข่นกกระทาที่เรานำมาให้ทุกคนได้ลองทำตามกันในวันนี้ เป็นขนมไทยโบราณที่หารับประทานได้ง่ายในปัจจุบัน แต่หากใครอยากลองทำทานเองก็มีวัตถุดิบดังนี้

  1. มันเทศนึ่งสุกหั่นชิ้น 2 หัวใหญ่ 
  2. ผงฟู 1/2 ช้อนชา
  3. เกลือป่น 1 ช้อนชา
  4. แป้งมัน 2 ถ้วยตวง
  5. แป้งสาลี 1/2 ถ้วยตวง
  6. ไข่แดง 1 ฟอง
  7. กะทิ 100 มิลลิลิตร
  8. น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
  9. น้ำมันพืชสำหรับทอด
  10. ขนมไทย
    ขนมไข่นกกระทา ขนมไทยหลากชื่อ

    ขั้นตอนการทำขนมไทยให้ไม่หายกรอบ

    ปัญหาที่พบเจอบ่อยเมื่อเราไปซื้อ ขนมไทย ไข่นกกระทามารับประทาน คือ แม้ว่าจะมีรสชาติที่อร่อยถูกปาก แต่สักพักก็จะเหี่ยวลง และไม่กรอบนอกนุ่มในเหมือนเอกลักษณ์ของขนมไทยชนิดนี้ สูตรที่เรานำมาฝากในวันนี้จึงเป็นสูตรที่ตอบโจทย์ เพราะแม้ว่าจะทิ้งไว้สักพักก็ไม่เหี่ยว หรือหายกรอบแน่นอน ดังนั้น เรามาดูขั้นตอนวิธีการทำกันเลย

    1.  ขั้นตอนแรกใส่แป้งมัน แป้งสาลี เกลือป่น ผงฟู และน้ำตาลทรายลงไปในชามผสม ใช้ช้อนคนให้เข้ากัน แล้วนำมันเทศมานวดให้เข้ากันกับส่วนผสมแห้งที่ใส่ลงไป (ขั้นตอนนี้แนะนำให้ล้างมือให้สะอาด หรือใส่ถุงมือก่อนนะคะ) จากนั้นทยอยใส่กะทิลงไปในระหว่างนวดจนส่วนผสมจับตัวเป็นก้อน และใส่ไข่แดงลงไปนวดต่อเพิ่มสีสันให้สวยงามมากยิ่งขึ้น

    2.  เมื่อนวดแป้งจนจับตัวเป็นก้อนแล้วให้นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอดีคำ นำไปวางไว้ในถาดที่โรยแป้งมันเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวขนมติดกัน 

    3.  ตั้งกระทะด้วยไฟอ่อน ใส่น้ำมันลงไปรอให้ร้อนแล้วทยอยใส่ก้อนขนมของเราลงไป ระหว่างทอดให้ใช้ตะหลิวแซะก้นกระทะ เพื่อไม่ให้ขนมไหม้ติดก้นกระทะนะคะ เมื่อขนมเริ่มจะลอยตัวขึ้นมาแล้วให้ใช้กระชอนคลึงกดตัวขนมให้เนื้อในของขนมเป็นโครง เมื่อสุกเหลืองน่ารับประทานแล้วให้ตักขึ้นมาพักไว้บนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน จัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ

Categories
ขนมไทย

ขนมหม้อเงินหม้อทอง ขนมไทยมงคลความหมายดี

ขนมไทย
ขนมหม้อเงินหม้อทอง ขนมไทยมงคลความหมายดี

ขนมหม้อเงินหม้อทอง นั้นมีความหมายว่า หม้อที่เต็มไปด้วยทอง จึงนับว่าเป็น ขนมไทย มงคลอีกหนึ่งชนิด มักนำไปให้คู่สมรสเพื่ออวยพรให้รักกันยาวนาน เงินทองไหลมาเทมา หรือเรียกว่ายิ่งกินยิ่งเสริมโชคให้รวยตามความเชื่อโบราณ และยังมีอีกหนึ่งชื่อคือขนมหม้อตาล มีลักษณะคล้ายหม้อดินเนื้อสัมผัสกรุบกรอบ ด้านในมีสันสวยงามจากน้ำตาลหวานละมุนเข้ากันดี ปัจจุบันนั้นหาทานได้ยากมาก เพราะขั้นตอนวิธีการทำนั้นค่อนข้างสลับซับซ้อนทำได้ยาก ทำให้ไม่นิยมทำขายกันเหมือนขนมชนิดอื่น ทำให้ขนมอย่างหม้อเงินหม้อทองถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ไม่เป็นที่รู้จักของเด็กรุ่นใหม่

ขนมไทย
ขนมหม้อเงินหม้อทอง ขนมไทยมงคลความหมายดี

วัตถุดิบในการทำขนมไทย หม้อตาล

ขนมไทย นั้นเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม มีความประณีตพิถีพิถัน ที่ไม่เหมือนกับขนมของชาติอื่น อีกทั้งยังมีการคัดเลือกวัตถุดิบมาอย่างดีจนทำให้ขนมนั้นอร่อยไม่แพ้เบเกอรี่ที่นิยมรับประทานกันในปัจจุบัน ขนมหม้อเงินหม้อทอง แม้จะเป็นขนมที่หาทานยาก แต่วัตถุดิบการทำนั้นหาได้ง่ายมากตามตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสำหรับขายอุปกรณ์ทำขนม สำหรับใครที่อยากลองทำ ไปดูวัตถุดิบของขนมชนิดนี้กันเลยค่ะ

ส่วนตัวหม้อเงินหม้อทอง

  1. แป้งสาลีอเนกประสงค์ 90 กรัม
  2. ไข่แดงของไข่ไก่ 1 ฟอง
  3. เกลือ 1/2 ช้อนชา
  4. น้ำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ
  5. กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ

ส่วนตัวไส้ในหม้อ

  1. น้ำตาลทรายขาว 150 กรัม
  2. น้ำเปล่า 30 กรัม
  3. สีผสมอาหารตามชอบ 3 สี
  4. สารปรุงแต่งกลิ่นตามชอบ
  5. ขนมไทย
    ขนมหม้อเงินหม้อทอง ขนมไทยมงคลความหมายดี

    วิธีการทำขนมหม้อเงินหม้อทอง ขนมมงคล ทานเสริมโชคลาภ

    ขนมหม้อเงินหม้อทองนั้นมีวิธีการทำที่สลับซับซ้อน บางขั้นตอนนั้นคล้ายขนมกระเช้าสีดาที่มีรูปร่างคล้ายกัน ในอดีตนั้นใช้มือในการปั้นขนมชนิดนี้ให้เป็นรูปร่างหม้อดิน แต่ในปัจจุบันมีพิมพ์ในการทำเข้ามาช่วย ทำให้ง่ายและสะดวกขึ้นมาอีกนิดหน่อย แต่ก็ยังต้องอาศัยความประณีตในการทำ สำหรับใครที่ยังไม่เคยทาน ขนมไทย มงคลชนิดนี้ เรามีสูตรการทำง่าย ๆ มาให้ทุกคนได้ลองทำตามกันนะคะ

    1. นำแป้งสาลีอเนกประสงค์ กะทิ เกลือ ไข่แดงไข่ไก่ และน้ำเย็นใส่ลงไปในถ้วยตามลำดับ ใช้ไม้พายกวนให้เข้ากัน ตามด้วยการใช้มือนวดแป้งจนกว่าจะเนียนจับตัวเป็นก้อน พักไว้ 20 นาที โดยใช้ผ้าขาวบางหรือฟิล์มถนอมอาหารคลุมไว้กันแป้งแห้ง
    2. นำแป้งที่พักไว้มานวดเล็กน้อยแล้วปั้นเป็นก้อนกลม แล้วใช้มือบีบเป็นแผ่นบาง ๆ จับจีบให้เป็นรูปหม้อดินให้มีหลุมตรงกลาง ทำซ้ำจนกว่าแป้งที่เตรียมไว้จะหมด ในขั้นตอนนี้สำหรับใครที่มีพิมพ์ปั้นรูปหม้อตาลก็สามารถใช้ได้นะคะ
    3. นำแป้งที่ปั้นเสร็จแล้วไปอบที่อุณหภูมิ 170 องศา เป็นเวลา 10 นาที เพื่อให้ตัวแป้งสุกและกรุบกรอบ
    4. ต่อกันที่ส่วนของไส้ขนม โดยใส่น้ำตาลทรายขาว น้ำ สารแต่งกลิ่น และสีผสมอาหารเล็กน้อยลงไปในกระทะ เปิดไฟอ่อนใช้ช้อนคนจนกว่าส่วนผสมทั้งหมดจะละลายเข้ากันเป็นสีใสน่ารับประทาน แล้วตักใส่หม้อดินกรุบกรอบที่เราเตรียมไว้ทันที ทำซ้ำกับสีอื่น ๆ ที่ต้องการจนกว่าหม้อดินที่ปั้นไว้จะหมด พักให้เย็นจนส่วนของไส้จับตัวกันเป็นก้อน เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นสามารถรับประทานได้เลย 

    เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สูตรทำ ขนมหม้อเงินหม้อทอง แบบง่าย ๆ ที่เราได้นำมาให้ทุกท่านได้ลองทำตามกันในวันนี้ ง่ายกว่าที่คิดใช่ไหมละคะ เพราะเป็นสูตรประยุกต์จากสูตรเดิมที่ค่อนข้างซับซ้อนเล็กน้อย หากใครมีพิมพ์หม้อตาลจะทำให้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว แถมรูปร่างหน้าตาของขนมก็จะน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น หากใครได้ลองชิมแล้วต้องติดใจกันแน่นอนค่ะ จากรสชาติหวาน ๆ ของไส้ ห่อหุ้มด้วยแป้งกรุบกรอบด้านนอก เข้ากันได้ดีทีเดียวละค่ะ อย่าพลาดที่จะลองทำทานกันดูที่บ้านนะคะ ทำกินง่าย ๆ ทำขายก็ดีค่ะ

Categories
ขนมไทย

ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไทยสมัยรัชกาลที่ 4

ขนมไทย
ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไทยสมัยรัชกาลที่ 4

ขนมปลากริมไข่เต่า หรือชื่อเดิมคือ ขนมแชงม้า หรือขนมแฉ่งม้า นั้นเป็น ขนมไทย โบราณที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เลยทีเดียว หลักฐานชิ้นสำคัญก็คือเพลงกล่อมเด็กในสมัยนั้นที่มีการใช้ชื่อของขนมแชงม้าร่วมด้วย “โอ้ละเห โอ้ละหึก ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแฉ่งม้า ผัวก็ตี เมียก็ด่า ขนมแฉ่งม้าก็คาหม้อแกง” ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นเคยเพลงกล่อมเด็กเพลงนี้ เพราะไม่นิยมนำมาใช้ในปัจจุบัน แต่อาจมีบางคนที่เคยรับประทานขนมไทยชนิดนี้แล้ว

ขนมไทย
ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไทยสมัยรัชกาลที่ 4

วัตถุดิบการทำขนมปลากริมไข่เต่า การผสมผสานอย่างลงตัวของขนมไทยสองชนิด

ขนมไทยอย่างขนมปลากริมไข่เต่เป็นขนมที่ในอดีตเป็นขนมที่ทำรับประทานกันในวัง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นขนมสองชนิดนำมารวมกัน นั่นก็คือ ขนมปลากริม ที่มีลักษณะเป็นเส้นยาวคล้ายปลา รสชาติหวาน ส่วนขนมไข่เต่านั้นจะมีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ รสชาติเค็ม เมื่อนำขนมทั้งสองชนิดนี้มารวมกันก็จะเรียกกันว่า ขนมแซงม้า ซึ่งถือเป็นขนมไทยที่ผสมผสานขนมทั้งสองชนิดได้อย่างลงตัวมาก ๆ และหากใครอยากจะรับประทานก็คงต้องตามหากันยากเสียหน่อย ในวันนี้เราจึงได้นำสูตรวิธีการทำขนมไทยชนิดนี้มาให้ทุกคนได้ลองทำทานกันที่บ้านค่ะ แต่ก่อนอื่นต้องไปเตรียมวัตถุดิบกันก่อน ดังนี้

  1. แป้งข้าวเจ้า 250 กรัม
  2. แป้งมัน 250 กรัม
  3. น้ำเปล่า 3 ถ้วย แบ่งใส่สองครั้ง
  4. หัวกะทิ 2 1/2 ถ้วย
  5. หางกะทิ 2 1/2 ถ้วย
  6. เกลือ 2/4 ช้อนชา แบ่งใส่สองครั้ง
  7. น้ำตาลทรายขาว 250 กรัม
  8. น้ำตาลมะพร้าว 1 กิโลกรัม
  9. ใบเตยล้างสะอาด 1 – 2 มัด
ขนมไทย
ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไทยสมัยรัชกาลที่ 4

ขั้นตอนการทำขนมปลากริมไข่เต่า

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย รวมถึง ขนมไทย ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นผู้แต่งตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ตำราอาหารไทยฉบับแรกที่มีขึ้นมาให้เราได้ศึกษากันในปัจจุบัน ได้มีผู้นำขนมปลากริม และขนมไข่เต่ามาถวาย พร้อมกับบอกท่านผู้หญิงเปลี่ยนว่าขนมทั้งสองชนิดนี้ต้องทานคู่กัน จึงจะได้รสชาติหวาน และเค็มที่ตัดกันแล้วอร่อยลงตัว และเข้ากันมาก ๆ จนกลายเป็นขนมปลากริมไข่เต่าในปัจจุบัน ซึ่งวิธีการทำก็มีดังนี้

  1. ขั้นตอนแรกให้แบ่งแป้งข้าวเจ้าออก 1 ถ้วย และนำแป้งข้าวเจ้าที่เหลือ และน้ำใส่ลงไปในหม้อ คนให้ละลายเข้ากันจนมีเนื้อหนืด หลังจากนั้นเปิดไฟกลางแล้วกวนต่อเป็นเวลา 1 นาที ให้หวนตลอดนะคะ ป้องกันการไหม้ก้นหม้อ จากนั้นยกออกมาพักไว้
  2. ตั้งกระทะด้วยไฟอ่อนใส่น้ำตาลทราย และน้ำเปล่าเล็กน้อยลงไปในกระทะ เคี่ยวจนน้ำตาลเป็นคาราเมลสีเข้ม ค่อย ๆ ใส่น้ำเปล่าลงไปจนหมดในขณะที่กวน เพื่อคลายความร้อน จากนั้นเปลี่ยนเป็นไฟกลางแล้วใส่น้ำตาลมะพร้าวของเราลงไปกวนให้ละลาย เมื่อละลายหมดแล้วปิดไฟได้แล้วใส่ใบเตยลงไปเพิ่มกลิ่นหอม 
  3. ทำน้ำกะทิสำหรับทำไข่เต่า ด้วยการตั้งหม้อด้วยไฟกลาง ใส่กะทิลงไปแล้วรอให้เดือด และปิดไฟได้เลยค่ะ
  4. นำแป้งข้าวเจ้าที่พักไว้ในขั้นตอนที่ 1 แล้วทยอยใส่แป้งมัน และหัวกะทิลงไปนวดให้เข้ากันเป็นเวลาประมาณ 20 – 30 นาที จนแป้งนุ่มเหนียวเล็กน้อย
  5. นำแป้งที่นวดเสร็จแล้วไปตั้งหม้อด้วยไฟอ่อน ใส่เกลือ และทยอยใส่หัวกะทิลงไปกวนต่อให้แป้งสุก และจับตัวเป็นก้อน หลังจากนั้นปิดไฟแล้วนำแป้งออกมาแบ่งเป็นสองส่วน
  6. เมื่อแป้งอุ่นแล้วนำแป้งทั้งสองส่วนมานวดเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงจนจับตัวเป็นก้อนนิ่ม ๆ ในระหว่างนวดหากแป้งแห้งเกินไปสามารถเติมน้ำได้เล็กน้อยค่ะ
  7. ตั้งหม้อจนน้ำเดือด เตรียมพิมพ์ที่กดขนมปลากริมไข่เต่ามาไว้บนหม้อแล้วทำการกดแป้งที่นวดไว้ถูไปข้างหน้าในพิมพ์ให้แป้งนั้นเป็นรูปทรงเส้นสวยงามลงไปในหม้อ เมื่อเส้นสุกแล้วจะลอยขึ้นมา ให้เราช้อนแป้งออกมาลอยใส่ลงไปในน้ำกะทิที่เราต้มไว้ได้เลยค่ะ และทำซ้ำกับแป้งอีกหนึ่งส่วนที่เหลือ แต่ให้นำไปลอยกับน้ำคาราเมลนะคะ พักไว้ให้แป้งดูดน้ำทั้งสองอย่างให้เข้าเนื้อ และตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ
Categories
ขนมไทย

ขนมตะโก้ข้าวโพด ขนมไทยหลากหน้า หวานมันกลมกล่อม

ตะโก้ข้าวโพด
ขนมตะโก้ข้าวโพด ขนมไทยหลากหน้า หวานมันกลมกล่อม

ขนมไทยที่เราได้นำสูตรมาแนะนำกันในวันนี้ เป็นขนมที่หลายคนนั้นคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เพราะได้รับความนิยมทำขายกันอย่างมากในปัจจุบัน โดยนำมาปรับปรุงสูตรให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหน้าของขนมตะโก้ ที่ถูกนำมาผสมผสานกับขนมไทยหลากหลายทั้งสาคู ทับทิมกรอบ ฝอยทอง หรือแม้แต่ผักผลไม้แบบไทย ๆ เช่น ข้าวโพด เผือก แห้ว เป็นต้น ทำให้เราได้เลือกรับประทานกันอย่างไม่มีเบื่อกันเลยทีเดียว สำหรับใครที่อยากลองทำทานเองกันดูสักครั้งก็ตามมาดูสูตรการทำ ตะโก้ข้าวโพด ของเรากันเลยค่ะ

ตะโก้ข้าวโพด
ขนมตะโก้ข้าวโพด ขนมไทยหลากหน้า หวานมันกลมกล่อม

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำตะโก้ข้าวโพด ขนมไทยที่ชื่อคล้ายกับมลายู

หลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่า ขนมไทยของเรานั้นมีหลากหลาย และบางอย่างนั้นยังถูกประยุกต์มาจากขนมของต่างชาติ ซึ่ง ตะโก้ข้าวโพด เองก็เหมือนจะมีที่มาจากมลายู เพราะมีขนมที่มีความคล้ายคลึงกันทั้งรูปร่างหน้าตาของขนม และชื่อที่ใช้เรียก โดยคนมาเลเซียนั้นจะเรียกกันว่า กูอิฮ์ ตาโก หรือ Kuih Tako นั้นเองค่ะ แต่ส่วนใหญ่นั้นจะทำจากแป้งถั่วเขียวผสมกับน้ำตาลทราย ตักใส่กระทงใบตองเหมือนอย่างที่ไทยในสมัยโบราณทำกัน สำหรับวัตถุดิบอื่น ๆ ในวันนี้ เราก็ขอแบ่งออกเป็นสองส่วนนะคะ

วัตถุดิบทำตัวขนม

  1. เมล็ดข้าวโพดหวาน 1 ถ้วย
  2. น้ำต้มใบเตย 3 ถ้วยตวง 
  3. น้ำตาลทรายขาว 1 ถ้วยตวง
  4. แป้งข้าวเจ้า 1/2 ถ้วยตวง

วัตถุดิบทำหน้ากะทิ

  1. หัวกะทิ 3 + 1/2 ถ้วยตวง
  2. แป้งข้าวเจ้า 1/2 ถ้วยตวง
  3. น้ำตาลทรายขาว 2 ช้อนตวง
  4. เกลือป่น 1 ช้อนชา
  5. เมล็ดข้าวโพดสำหรับแต่งหน้าขนม
ตะโก้ข้าวโพด
ขนมตะโก้ข้าวโพด ขนมไทยหลากหน้า หวานมันกลมกล่อม

ขั้นตอนวิธีการทำขนมไทยในกระทงใบตอง หรือใบเตย

ในอดีตนั้นคนไทยมักจะนำใบของต้นต่าง ๆ นำมาทำเป็นภาชนะสำหรับใส่ขนมหวาน นอกจากจะเป็นการประยุกต์ใช้ที่ไม่เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ยังทำให้ตัวขนม ตะโก้ข้าวโพด ของเรานั้นได้กลิ่นหอมจากภาชนะธรรมชาติที่นำมาใช้อีกด้วย แต่หากใครหาวัสดุสำหรับทำภาชนะเหล่านี้ไม่ได้ก็สามารถเลือกใช้พิมพ์ภาชนะใส่ขนมที่มีขายกันทั่วไปใส่ขนมไทยของเราได้เลยนะคะ

  1. หลังจากที่เราเตรียมวัตถุดิบจนพร้อมแล้ว ให้ตั้งกระทะใส่น้ำต้มใบเตย น้ำตาลทราย แป้งข้าวเจ้าลงไปคนให้เข้ากัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วให้เปิดเตาด้วยไฟอ่อน กวนเรื่อย ๆ จนเนื้อแป้งข้นเหนียว ห้ามหยุดกวน เพื่อป้องกันการไหม้ก้นกระทะ ตามด้วยการใส่เมล็ดข้าวโพดลงไปกวนต่อ เสร็จแล้วปิดเตา
  2. นำขนมที่เรากวนเสร็จแล้วตักใส่ลงไปในกระทงใบตอง หรือพิมพ์ภาชนะใส่ขนมตามชอบ โดยเหลือพื้นที่ด้านบนไว้เล็กน้อย เพื่อใส่หน้ากะทิ

ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนการทำหน้ากะทิ โดยนำหัวกะทิ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทรายขาว และเกลือป่นลงไปคนให้เข้ากันในหม้อ จากนั้นเปิดเตาด้วยไฟอ่อน คนเรื่อย ๆ ให้เข้ากันดี จนมีเนื้อข้นหนืด จากนั้นปิดเตารอให้อุ่นเล็กน้อย แล้วตักหยอดลงไปบนตัวขนม ตามด้วยการนำเมล็ดข้าวโพดมาตกแต่งหน้าขนมตามชอบเป็นอันเสร็จสิ้น

Categories
ขนมไทย

ขนมทับทิมกรอบ ยอดฮิต ทำเองง่าย ได้ความสดใหม่

ขนมทับทิมกรอบ
ขนมทับทิมกรอบ ยอดฮิต ทำเองง่าย ได้ความสดใหม่

ขนมทับทิมกรอบขนมไทยที่นิยมทานคู่กับน้ำแข็งในหน้าร้อน ตัวขนมนั้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีแดงสดคล้ายเมล็ดทับทิม ต่างจากขนมไทยอื่น ๆ ที่มีในสมัยนั้น คาดว่าอาจจะเพราะเหตุนี้ทำให้ขนมชนิดนี้มีชื่อว่า “ทับทิมกรอบ” โดยเล่าขานกันว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ขนมชนิดนี้มีที่มาจากชาวญวนที่เข้ามาเป็นเชลยศึก มีนางข้าหลวงชาวญวนได้เข้ามารับราชการในห้องเครื่องในวัง และยังหวงสูตรขนมทับทิมกรอบนี้มาก จนถึงขั้นต้องล็อคประตูอย่างแน่นหนาในเวลาที่ทำขนม ทำให้คนในวังอยากได้สูตรขนมชนิดนี้เป็นอย่างมาก จนได้ออกอุบายให้พระวิมาเธอเข้าไปช่วย เพื่อให้ได้สูตรออกมาให้ทั้งคนในวังและนอกวังได้สามารถทำตามกัน และนำมาประยุกต์ดัดแปลงปรับปรุงสูตรจนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ขนมทับทิมกรอบ
ขนมทับทิมกรอบ ยอดฮิต ทำเองง่าย ได้ความสดใหม่

วัตถุดิบสำหรับทำทับทิมกรอบ ขนมไทยหอมหวานชื่นใจ

เชื่อว่าคนไทยทุก ๆ คนรู้จักขนมทับทิมกรอบ และยังมีอีกหลาย ๆ คนที่เคยรับประทานขนมไทยชนิดนี้ และยังเป็นขนมไทยสุดโปรดของหลาย ๆ คนอีกเช่นกัน รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็ด้วย เพราะขนมชนิดนี้หวานอร่อยกรุบกรอบ ทานคู่กับน้ำกะทิแล้วเข้ากันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับความเย็นชื่นใจจากตัวน้ำแข็งที่ใส่ลงไป อร่อยสมกับเป็นขนมไทยยอดนิยม แต่ทุกคนรู้หรือไม่คะ ว่าขนมทับทิมกรอบที่เราได้ทานกันในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นทับทิมกรอบสำเร็จรูป จึงทำให้อร่อยน้อยกว่าทับทิมกรอบแบบทำสดใหม่ สำหรับใครที่เคยกินขนมทับทิมกรอบทั้งสองแบบนี้ จะสามารถแยกออกเลยว่าแตกต่างกันอย่างไร สำหรับใครที่เคยกินแต่แบบสำเร็จรูปก็สามารถทำทานเองได้นะคะ วัตถุดิบดังนี้เลยค่ะ

  1. กะทิสำเร็จรูป ปริมาณ 400 มล.
  2. น้ำตาลทรายขาว ปริมาณ 120 กรัม
  3. เกลือป่น ปริมาณ 1 ชช.
  4. แห้วปลอกเปลือก ปริมาณ 300 กรัม
  5. แป้งมัน ปริมาณ 500 กรัม
  6. สีผสมอาหารสีแดง ปริมาณ 1/2 ชช. (ชนิดน้ำ)
  7. ใบเตย ปริมาณ 3 ใบ
  8. น้ำเปล่า ปริมาณ 1 ถ้วย
ขนมทับทิมกรอบ
ขนมทับทิมกรอบ ยอดฮิต ทำเองง่าย ได้ความสดใหม่

วิธีทำทับทิมกรอบอร่อยง่าย ๆ แค่ไม่กี่ขั้นตอน

ขนมทับทิมกรอบเป็นขนมที่มีวิธีการทำที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อนเหมือนขนมไทยชนิดอื่น โดยมีขั้นตอนการทำเพียงไม่กี่ขั้นตอน ใคร ๆ ก็สามารถทำได้แม้ไม่มีความชำนาญ หรือไม่เคยทำขนมไทยมาก่อนก็สามารถทำได้ แถมยังสนุกอีกด้วย จะนำไปทำรับประทานกันในครอบครัว หรือจะทำขายสร้างรายได้ก็ดีไม่แพ้กัน เพราะเป็นขนมไทยที่ได้รับความนิยมมาก ยิ่งเป็นสูตรที่ทำจากแห้วสด ๆ แล้ว ขอรับรองเลยว่าอร่อยถูกปาก ถูกใจจนต้องขออีกถ้วยกันเลยละค่ะ

  1. นำแห้วที่ปลอกเปลือกแล้วทั้งหมดมาหั่นเป็นลูกเต๋าชิ้นเล็ก ๆ 
  2. ผสมสีผสมอาหารสีแดงกับน้ำเปล่า ใส่ลงไปในแห้วที่หั่นไว้ ใช้ช้อนคลุกให้แห้วดูดสีเข้าไปจนกลายเป็นสีแดงคล้ายสีทับทิม แล้วแช่ไว้เป็นเวลาประมาณ 10 นาที
  3. มาต่อกันที่ขั้นตอนของการทำน้ำกะทิ ตั้งเตาด้วยไฟอ่อนใส่น้ำกะทิลงไปในหม้อ ตามด้วยใบเตยมัดเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ใส่น้ำตาลทรายขาวและเกลือลงไป คนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลายและน้ำกะทิเดือดเล็กน้อย แนะนำให้คนตลอดป้องกันน้ำกะทิแตกมัน เสร็จแล้วปิดเตาพักไว้ให้เย็น
  4. กรองน้ำที่แช่แห้วแล้วใส่ถ้วยแยก ให้เหลือแต่ตัวแห้ว นำแป้งมันเทลงไปในถ้วยตามด้วยแห้วคลุกให้แป้งให้ทั่วติดกับแห้วจนขาวโพลน เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะหากแป้งไม่ทั่วจะทำให้สีที่คลุกไว้ละลายออกมามากในตอนต้ม ทำให้มีสีสันที่ไม่สวยงาม
  5. ใช้ตระแกรงร่อนเศษแป้งส่วนเกินที่ติดอยู่ในแห้วออกเล็กน้อย 
  6. ต้มน้ำให้เดือดและใส่แห้วลงไป ปิดฝาทิ้งไว้จนกว่าแห้วจะลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ และมีสีเข้ม และแป้งใส ใช้กระชอนตักขึ้นมาใส่น้ำเย็นจัดเพื่อให้เซตตัวและกรอบมากยิ่งขึ้น
  7. ตักใส่น้ำกะทิที่เราเตรียมไว้ สำหรับใครชอบทานเย็น ๆ ก็สามารถใส่น้ำแข็งเพิ่มได้นะคะ
Categories
ขนมไทย

ขนมเทียน ที่มาของความอร่อยเหนียวนุ่มสู้ฟัน

ขนมเทียน
ขนมเทียน ที่มาของความอร่อยเหนียวนุ่มสู้ฟัน

สวัสดีค่ะคนรักขนมไทยทุกคน วันนี้เราก็ได้นำขนมไทยมาแนะนำให้ได้รู้จักกันอีกแล้ว นั่นก็คือ ขนมเทียน หรือขนมนมสาว ขนมไทยรูปทรงสามเหลี่ยม ห่อด้วยใบตองสวยงาม นอกจากสองชื่อที่เราได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ขนมเทียนยังถูกเรียกชื่อแตกต่างกันตามภูมิภาคของประเทศไทยอีกด้วยค่ะ เช่น ภาคอีสาน จะเรียกว่า ขนมหมด , ภาคเหนือเรียกว่า ขนมจ๊อก และภาคกลางเรียกว่า ขนมนมสาวค่ะ แต่ภาคที่นิยมทำขนมไทยชนิดนี้มากที่สุดก็เห็นจะเป็นภาคอีสาน ยิ่งงานบุญ หรือเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานออกพรรษา ยิ่งเห็นได้มากในภูมิภาคนั้นค่ะ 

ในอดีตนั้นขนมเทียนจะมีเพียงไส้มะพร้าว และถั่วเขียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการดัดแปลงสูตร และทำไส้ออกมามากมายให้เราได้รับประทานกัน ทั้งไส้เค็ม ไส้หวาน รวมถึงการเพิ่มเติมสีสันลงไปก็ยิ่งทำให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อสัมผัสของขนมไทยชนิดนี้จะมีความเหนียวนุ่มสู้ฟัน เข้ากันได้ดีกับไส้ที่สอดใส่เข้ามาเพิ่มรสชาติ หากเป็นไส้หวานด้วยแล้วจะกรุบกรอบมะพร้าวด้วย ผสานกับกลิ่นหอม ๆ ของใบตองที่เราจะรู้สึกได้ในระหว่างเคี้ยว ส่วนตัวเคยมีโอกาสได้ทานแล้วติดใจยกให้เป็นขนมไทยอันดับหนึ่งเลยค่ะ ทานง่าย อร่อย เคี้ยวเพลินสุด ๆ 

ขนมเทียน
ขนมเทียน ที่มาของความอร่อยเหนียวนุ่มสู้ฟัน

วัตถุดิบในการทำขนมเทียน ขนมไหว้เจ้าของจีน

หากใครที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนจะรู้ว่าขนมเทียนนั้นนอกจากจะได้รับความนิยมในประเพณีของไทยแล้ว ยังได้รับความนิยมของคนจีนด้วย เพราะในวันตรุษจีนนั้นจะมีการทำขนมเทียนกันอย่างมากมาย เพื่อนำมาเซ่นไหว้เทพเจ้า ซึ่งก่อนที่เราจะไปดูขั้นตอนการทำนั้นเราก็ต้องเตรียมวัตถุดิบของเราให้พร้อมก่อน ซึ่งวัตถุดิบที่เราจะใช้ในการทำ ขอแบ่งเป็นสองส่วน ดังนี้

วัตถุดิบในการทำแป้ง

  1. แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
  2. น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
  3. กะทิ 200 มิลลิลิตร
  4. ใบตอง

วัตถุดิบในการทำไส้หวาน

  1. มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 2 ถ้วยตวง
  2. น้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลมะพร้าว 150 กรัม
  3. เกลือป่น 1 ช้อนชา
  4. น้ำเปล่า 1/2 ถ้วยตวง 
ขนมเทียน
ขนมเทียน ที่มาของความอร่อยเหนียวนุ่มสู้ฟัน

ขั้นตอนวิธีการทำขนมไทย ทำง่าย มีประโยชน์

ขนมเทียนถือเป็นขนมมงคลที่มีประโยชน์มากมายต่อร่างกายของผู้ที่ได้รับประทาน แถมยังช่วยให้ผิวพรรณดีอีกด้วย เช่น กะทิ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดคอเลสเตอรอล , เนื้อมะพร้าว ช่วยลดความดัน อุดมไปด้วยสารอาหาร ที่เรากล่าวมานี้เป็นเพียงประโยชน์บางส่วนเท่านั้น เพราะวัตถุดิบเหล่านี้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย อีกทั้งยังสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานอีกด้วย ใครอยากทำขนมไทยแสนอร่อยอุดมไปด้วยประโยชน์กันแล้ว ไปดูวิธีทำกันเลยค่ะ

  1. ขั้นตอนแรกทำไส้ของขนม โดยการตั้งกระทะด้วยไฟอ่อน ใส่น้ำเปล่า น้ำตาลปี๊บ เกลือป่น ใช้ไม้พายเคี่ยวให้เข้ากัน เมื่อละลายดีแล้วให้ใส่มะพร้าวทึนทึกขูดฝอยลงไปเคี่ยวต่อจนมีเนื้อเหนียวหนืดให้พอปั้นได้แล้วนำออกมาพักไว้ให้อุ่น
  2. ทำแป้งขนมเทียน โดยใส่น้ำตาลปี๊บ และหัวกะทิ ½ ของขนาดที่เตรียมไว้ ทำการนวดให้น้ำตาลละลาย (อย่าลืมล้างมือให้สะอาดนะคะ) พอน้ำตาลละลายแล้วให้ใส่แป้งข้าวเหนียวลงไปนวด และทยอยเติมกะทิลงไปในขณะนวด เพื่อไม่ให้แป้งเหลวจนเกินไป 
  3. นำไส้ที่พักไว้มาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณ 1 นิ้ว หรือขนาดพอดีคำ 
  4. นำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเท่าลูกปิงปอง ใช้มือแผ่ออกให้แบนแล้วใส่ไส้ลงไปตรงกลาง ห่อไส้ให้มิด และห่อเป็นก้อนกลมอีกครั้ง พักไว้ในจานที่ใส่น้ำมันไว้เล็กน้อย เพื่อไม่ให้ขนมของเราติดกัน
  5. เตรียมใบตองสำหรับห่อขนมเทียน ใบด้านในเป็นวงกลมใบเล็ก ส่วนด้านนอกเป็นวงรีขนาดใหญ่ วางประกบกันให้ด้านนวลหันหน้าเข้าหากัน พับให้เป็นกรวย แล้วใส่ขนมที่เตรียมไว้ลงไปตรงกลาง พับเข้าหากันเป็นรูปสามเหลี่ยม สุดท้ายพับปลายเก็บม้วนเข้าไปด้านใน ทำซ้ำกับส่วนผสมที่เหลือ
  6. ตั้งหม้อนึ่งใส่น้ำรอให้เดือด นำขนมเทียนที่เตรียวไว้ลงไปนึ่งด้วยไฟกลางเป็นเวลา 30 นาที เสร็จแล้วนำออกมาพักให้เย็น จัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ
Categories
ขนมไทย

ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ ขนมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้
ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ ขนมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ขนมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สูงมาก เราสามารถจำแนกพวกมันออกเป็นแต่ละชนิดได้ทันทีเพียงแค่การมองเห็นเท่านั้น มีขนมอยู่หนึ่งชนิดที่เอกลักษณ์ของมันโดดเด่นไม่เหมือนใคร แม้แต่ในขนมไทยด้วยกันเองก็ตาม นั่นก็คือขนมเปียกปูนนั่นเอง แต่ขนมเปียกปูนในอดีตที่เราเคยเห็นกันในสมัยเด็กนั้นหน้าตาไม่น่ากินเท่าไรนัก เพราะลักษณะของมันจะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีดำที่ไม่อาจคาดเดารสชาติได้จากการดูเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการปรับสูตรให้มันดูมีความน่ากินและมีความสวยงามมากยิ่งขึ้นจนกลายมาเป็นขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ โดยสูตรที่เราจะมาแนะนำในวันนี้จะปรับให้มีวัตถุดิบในการทำน้อยลงเพื่อความสะดวกในการทำ และเป็นสูตรที่ช่วยให้ขนมมีความเหนียวนุ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้
ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ ขนมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

เปียกปูน ขนมพื้นบ้านทำง่ายด้วยวัตถุดิบราคาไม่แพง

ด้วยความที่เป็นขนมพื้นบ้านทำให้ถึงแม้ว่าขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้จะเป็นขนมไทยแต่มันก็ใช้วัตถุดิบที่มีราคาไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย ประกอบกับเป็นสูตรที่ได้มีการปรับปรุงให้ใช้วัตถุดิบในการทำน้อยลงเพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้เราไม่จำเป็นต้องเตรียมวัตถุดิบมากมายสำหรับการทำขนมชนิดนี้ โดยเหลือเพียงแค่ 9 อย่างเท่านั้นประกอบไปด้วย

  1. แป้งข้าวเจ้า เป็นแป้งหลักของขนมชนิดนี้ช่วยให้ขนมมีความแข็งตัวและสามารถขึ้นรูปเป็นดอกไม้ได้ ใช้ในปริมาณ 120 กรัม
  2. แป้งท้าวยายม่อม แป้งที่ปรากฏตัวตามขนมไทยหลากหลายชนิด เป็นวัตถุดิบเสริมดังนั้นจึงใช้เพียงแค่ 20 กรัมเท่านั้น
  3. แป้งข้าวโพด เป็นแป้งที่ช่วยให้ขนมมีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง เวลารับประทานเข้าไปแล้วก็จะมีความรู้สึกนุ่มลื่นในปาก ใช้เพียงแค่ 20 กรัมเท่านั้น
  4. น้ำตาลมะพร้าว 180 กรัม เป็นน้ำตาลที่มีรสชาติหวานเฉพาะตัว เราจะได้กลิ่นหอมมะพร้าวจากน้ำตาลชนิดนี้ แต่ด้วยความที่สีของมันจะเป็นสีออกน้ำตาลทำให้ขนมที่ออกมานั้นสีอาจจะผิดเพี้ยนไป สามารถแก้ได้ด้วยการใช้สีผสมอาหาร
  5.  น้ำตาลทราย 80 กรัม 
  6. น้ำปูนใส 1 ถ้วยตวง หากหาซื้อไม่ได้สามารถใช้ปูนแดงที่เอาไว้กินกับหมากแช่น้ำทิ้งไว้จนตกตะกอน นำเฉพาะน้ำด้านบนที่มีความใสมาใช้ จะช่วยให้ขนมของเราสามารถคงรูปได้ดี
  7. น้ำใบเตย 1 ส่วน 2 ถ้วยตวง วิธีการทำคือนำเอาน้ำสะอาดต้มจนเดือดจากนั้นให้เทใบเตยลงไปต้ม เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำใบเตยเรียบร้อยแล้ว 
  8. กะทิ 1 ถ้วยตวง สามารถใช้ได้ทั้งกะทิคั้นสดและกะทิกล่องสำเร็จรูป
  9. สีผสมอาหาร สามารถเลือกว่าจะใช้หรือไม่ก็ได้ 
ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้
ขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ ขนมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ขั้นตอนการทำขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ ขนมไทยที่ทั้งอร่อยและทำสนุก

ต้องยอมรับว่าที่หลายคนหันมาชื่นชอบการทำขนมไทยเพราะด้วยกระบวนการที่เต็มไปด้วยความประณีตและต้องอาศัยความใจเย็น เป็นสิ่งที่ทำให้การทำขนมมีความสนุกสนานมากขึ้น และยิ่งหากเป็นขนมที่ต้องใช้ความสวยงามอย่างขนมเปียกปูนใบเตยดอกไม้ จะยิ่งทำให้ความสนุกในการทำเพิ่มมากขึ้นไปอีก ขั้นตอนการทำขนมไทยชนิดนี้จะประกอบไปด้วย

  1. นำแป้งทั้ง 3 ชนิดมาร่อนลงไปในชามผสมให้เนื้อละเอียด จากนั้นนำน้ำตาลทรายผสมเข้าไปพร้อมกับน้ำตาลมะพร้าว 
  2. เทน้ำปูนใสลงไปในชามผสมทีน้อย ค่อย ๆ ใช้ช้อนคนผสมกันจนน้ำตาลละลายเข้ากันดี เทน้ำปูนใสลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมด 
  3. เทน้ำกะทิและใบเตยลงไปในชามผสม ในขั้นตอนนี้แป้งของเราจะละลายหายไปเป็นของเหลวเนื้อเดียวกัน หากต้องการใช้สีผสมอาหารสามารถหยดได้ในขั้นตอนนี้ หยดประมาณ 1-2 หยดก็เพียงพอ ไม่เช่นนั้นสีของขนมจะออกมาสดจนเกินไป
  4. ทำการกรองแป้งอีกครั้งเพื่อให้แป้งที่ได้มีความละเอียดมากที่สุด
  5. นำหม้อขึ้นตั้งไฟอ่อนแล้วเทส่วนผสมลงไปในหม้อ กวนอย่างเบามือจนแป้งเริ่มเกาะตัวกันเป็นก้อน ห้ามหยุดคนเด็ดขาดไม่เช่นนั้นขนมจะไหม้ได้ เมื่อคนไปเรื่อย ๆ จะพบว่าขนมนั้นจะใสมากยิ่งขึ้น หมายความว่าขนมสุกเรียบร้อยแล้ว 
  6. ตักขนมที่เย็นแล้วใส่ลงไปในถุงบีบแล้วทำการบีบออกมาให้เป็นรูปดอกไม้ ทิ้งขนมเอาไว้เป็นเวลา 10 นาทีให้เชตตัว จากนั้นขนมก็จะอยู่ตัวเป็นรูปดอกไม้พร้อมรับประทาน
Categories
ขนมไทย

ขนมมัศกอด ขนมลูกผสมไทยเทศ

ขนมมัศกอด
ขนมมัศกอด ขนมลูกผสมไทยเทศ

“มัศกอดกอดอย่างไร น่าสงสัยใคร่ขอถาม กอดเคล้นจะเห็นความ ขนมนามนี้ยังแคลง” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้กล่าวถึงขนมไทยชนิดนี้เอาไว้ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาว – หวาน เป็นหลักฐานให้เราได้รู้ว่าขนมมัศกอดนี้มีขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งหลายคนเมื่อเห็นหน้าตาแล้วจะนึกถึงคัพเค้ก เบเกอรี่ที่เราคุ้นเคย ซึ่งขนมไทยชนิดนี้ก็คาดว่าเป็นลูกผสมระหว่างไทยกับเปอร์เซีย เพราะชื่อของขนมไทยชนิดนี้มาจากชื่อเมืองมัสกัตในประเทศเปอร์เซีย หรือก็คือประเทศอิหร่านในปัจจุบันนั่นเองค่ะ ซึ่งถูกจัดอยู่ในขนมไทยประเภทกวน

เราเชื่อว่ายังมีหลายคนที่ไม่รู้จักกับขนมไทยอย่างขนมมัศกอด เพราะหาทานได้ยากมากในปัจจุบัน ไม่ค่อยเห็นใครนำมาขายกันเสียเท่าไหร่ ในวันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับขนมไทยชนิดนี้กันให้มากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการเรียนรู้สูตรวิธีการทำ เพื่อนำไปทำทานกันที่บ้านกับกาแฟ นม หรือชาสักแก้วก็อร่อยเข้ากันมาก ๆ แนะนำเลยนะคะกับเมนูขนมไทยโบราณที่เราได้นำมาฝากกันในวันนี้

ขนมมัศกอด
ขนมมัศกอด ขนมลูกผสมไทยเทศ

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมมัศกอด

ขนมมัศกอดนั้นเป็นขนมไทยที่มีรูปร่างคล้ายกับเบเกอรี่คัพเค้ก ทั้งยังใช้การอบที่เหมือนกับเบเกอรี่อีกด้วย จนบางคนถึงกับตั้งฉายาว่าคัพเค้กสไตล์ไทยเลยทีเดียว แต่เมื่อตอนที่ยังไม่ถูกแต่งหน้าก็จะมีความคล้ายคลึงกับขนมไข่ เนื้อสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น ผสานกับความกรุบกรอบของเนื้อมะพร้าวที่นำมาแต่งหน้าขนม เมื่อได้รับประทานแล้วจะรู้สึกถึงรสชาติหวานหอม ฟิน ติดปากสุด ๆ หากใครอยากทานขนมไทยลูกครึ่งกันแล้ว เราไปเตรียมวัตถุดิบในการทำกันก่อนเลยค่ะ โดยในวันนี้เราจะขอแบ่งออกเป็นสองส่วนนะคะ

ส่วนผสมตัวขนม

  1. แป้งเค้ก 90 กรัม
  2. ผงฟู 1 ช้อนชา
  3. ไข่ไก่ เบอร์ 1 2 ฟอง
  4. น้ำเปล่า 2 ช้อนโต๊ะ
  5. น้ำตาลทรายขาว 120 กรัม
  6. กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา

ส่วนผสมสำหรับแต่งหน้าขนม

  1. ไข่ขาวเบอร์ 1 2 ฟอง
  2. น้ำตาลทรายป่น 1/2 ถ้วยตวง
  3. น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
  4. สีผสมอาหารตามชอบ
  5. กลิ่นมะลิ 1/4 ช้อนชา
  6. เนื้อมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย
ขนมมัศกอด
ขนมมัศกอด ขนมลูกผสมไทยเทศ

ขั้นตอนวิธีการทำขนมไทยหน้าตาน่าทาน

หากใครเคยทำขนมไข่ ขนมฝรั่งกุฏีจีน หรือคัพเค้กเบเกอรี่มาก่อนแล้วจะสามารถทำขนมมัศกอดได้อย่างง่ายดาย เพราะขั้นตอนวิธีการทำนั้นจะคล้ายคลึงกัน และสำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทำขนมเหล่านี้เลยก็สามารถทำได้นะคะ แม้ว่าขั้นตอนนั้นจะซับซ้อนไปเสียหน่อย แต่รับรองว่าไม่ยากเกินความสามารถของเราแน่นอนค่ะ เพียงแค่คุณมีความตั้งใจในการทำ เพียงเท่านั้นคุณก็จะได้เมนูขนมไทยหน้าตาน่ารัก แถมยังอร่อย ไปรับประทานกันแล้ว มาอัพสกิลการทำขนมหวานไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

  1. ขั้นตอนแรกใส่ไข่ไก่ น้ำตาลทรายขาวลงไปในชามผสม ตีให้เข้ากันจนขึ้นฟูด้วยเครื่องผสมอาหาร โดยใช้สปีดสูงสุด จากนั้นลดความเร็วลงแล้วทยอยใส่แป้งเค้กลงไปในระหว่างที่เครื่องทำงาน ตามด้วยการใส่กลิ่นวานิลลาเล็กน้อย เนื้อแป้งจะมีความนุ่มเนียน
  2. เตรียมถาดรองอบ พิมพ์สำหรับอบ และพิมพ์กระดาษ จากนั้นให้หยอดส่วนผสมของแป้งในขั้นตอนที่ 1 ลงไป ในปริมาณ ¼ ของถ้วย เพื่อเว้นที่ว่างให้ขนมขึ้นฟู
  3. วอร์มเตาอบด้วยอุณหภูมิ 180 องศา ไฟบนล่าง เปิดพัดลม จากนั้นนำขนมเข้าไปอบด้วยไฟเท่ากัน เป็นเวลาประมาณ 15 – 20 นาที พักไว้ให้เย็น แล้วนำออกจากพิมพ์สำหรับอบ
  4. ทำครีมสำหรับแต่งหน้าขนม โดยการใส่ไข่ขาวลงไปในชามผสม ตีด้วยเครื่องผสมสปีดสูงสุดจนตั้งยอด ใส่น้ำตาลทรายป่นลงไปตีต่อด้วยความเร็วปานกลาง จากนั้นใส่น้ำมะนาว เพื่อดับกลิ่นคาวของไข่ เสร็จแล้วให้นำไปใส่ถุงบีบ
  5. นำสีผสมอาหารตามมาหยดใส่มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หากใครอยากใช้หลายสีก็ให้แบ่งเนื้อมะพร้าวตามสีที่ต้องการใช้เลยค่ะ
  6. บีบครีมแต่งหน้าขนมให้สวยงาม โรยหน้าด้วยมะพร้าว จากนั้นนำไปอบด้วยอุณหภูมิเท่าเดิม แต่ใช้แค่ไฟบน เพื่อให้เนื้อมะพร้าวของเราเซตตัว เสร็จแล้วนำออกมาจัดเสิร์ฟได้เลย
Categories
ขนมไทย

ขนมแดกงา ขนมพื้นบ้านมีเรื่องราวในพระไตรปิฏก

ขนมแดกงา ขนมพื้นบ้านมีเรื่องราวในพระไตรปิฏก

หากใครกำลังอยากจะทานขนมหวานสักชิ้น เราขอแนะนำ “ขนมแดกงา” ขนมที่ทั้งอร่อย และช่วยให้อิ่มท้อง ซึ่งหน้าตาของขนมนั้นอาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตาบางคนเสียเท่าไหร่ เพราะเป็นขนมพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย หรือเมืองมรดกโลกของไทยเรานี่เอง เป็นจังหวัดที่มากมายไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ รวมถึงอาหารที่อร่อย และขนมไทยที่เรานำมาแนะนำในวันนี้ก็มีสตอรี่ที่มากมาย ถูกกล่าวถึงในชาดกเรื่องหนึ่งว่าเป็นอาหารของชนชั้นแรงงาน เพราะสามารถทานได้แทนอาหารว่าง ทานแล้วอิ่มอยู่ท้องช่วยคลายหิวได้ ด้วยวัตถุดิบหลักที่ทำจากข้าวเหนียว และงา แถมยังมีราคาที่ถูกกว่าขนมหวานอื่น ๆ หากใครอยากลองทานก็ไม่ต้องไปหาซื้อไกล เพราะเราได้นำสูตรวิธีการทำ พร้อมเล่าเรื่องราวสอนใจจากขนมไทยมาให้ทุกคนได้ศึกษากันอีกด้วย

ขนมแดกงา
ขนมแดกงา ขนมพื้นบ้านมีเรื่องราวในพระไตรปิฏก

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมแดกงา ขนมที่มีเรื่องราวสอนใจในพระไตรปิฏก

ขนมแดกงายังเป็นขนมไทยที่มีประวัติยาวนาน และถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องราวกี่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเศรษฐีที่เคยเป็นคนชั้นแรงงานมาก่อน เขาได้ศึกษาธรรมจนมีผู้ศรัทธาจากการที่เขาอธิบายธรรม ต่อมาก่อนที่เขาจะสิ้นใจเขาได้ปรารถนาความศรัทธา และมั่นคงในพระรัตนตรัย เขาได้นิมนต์พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะมาพำนักอยู่ที่อัมพาฏการาม วัดที่ตนเป็นคนสร้าง ซึ่งมีพระสุธรรมเป็นเจ้าอาวาส ทำให้เกิดความอิจฉาที่เศรษฐีนับถือผู้อื่นมากกว่าตน เมื่อเศรษฐีได้ถวายภัตตาตารให้อย่างมากมาย แต่พระสุธรรมกลับกล่าวว่าอาหารของเขานั้นขาดไปเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ ขนมแดกงา ทำให้เศรษฐีนั้นโมโหมาก เพราะมันทำให้เขานึกถึงตอนที่ยังยากจน จึงมองขนมชนิดนี้เป็นของแสลง

ทั้งสองจึงได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้กราบทูลเรื่องนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตำหนิพระสุธรรม และบอกให้ไปขอขมาเศรษฐีถึง 2 รอบ จึงได้ยกโทษให้ และเรื่องนี้ก็ให้คำสอนว่าเศรษฐีที่มีปฏิภาณเฉียบแหลม ศึกษาธรรมจนได้รับการยกย่องมีคนนับถือ แต่ก็ยังมีปมแต่อดีตที่ไม่สามารถละได้ ทั้งพระสงฆ์บางรูปก็ยังไม่หลุดพ้นในธรรม ถือเป็นเรื่องราวที่สะท้อนจิตใจของมนุษย์ หลังจากที่เราได้รู้เรื่องราวของขนมแดกงามาพอสมควรแล้ว เราไปดูวัตถุดิบในการทำกันเลยค่ะ

  1. แป้งข้าวเหนียวขาว 150 กรัม
  2. น้ำลอยดอกมะลิสำหรับนวดแป้ง 
  3. น้ำลอยดอกมะลิ 60 กรัม
  4. เนื้อมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย 150 กรัม
  5. น้ำตาลปี๊บ 150 กรัม
  6. ถั่วลิสงคั่วบุบ 45 กรัม
  7. งาดำคั่ว 60 กรัม
  8. งาขาวคั่ว 60 กรัม
  9. เกลือป่น 10 กรัม
  10. ใบตอง 2 – 3 ใบ
ขนมแดกงา
ขนมแดกงา ขนมพื้นบ้านมีเรื่องราวในพระไตรปิฏก

ขั้นตอนวิธีการทำขนมไทยรับประทานง่าย คลายหิว

เนื่องจากขนมแดกงามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน จึงไม่สามารถทราบต้นกำเนิดที่ชัดเจน แต่ชาวมอญที่ได้รับพุทธศาสนาจากอินเดีย จึงได้รับขนมแดกงามาทำรับประทานด้วย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญ และถูกเรียกอย่างหลากหลาย และมีความแตกต่างกันในด้านหน้าตาของขนม เช่น คนไทยภาคกลางจะเรียกว่าขนมแดกงา และขนมงาดำ , ภาคเหนือเรียก ขนมข้าวปุก , ภาคอีสานเรียด ขนมข้าวเปียง ซึ่งนิยมทำขนมไทยชนิดนี้ในช่วงเทศกาล เช่น วันปีใหม่ 

และก็มีถึงสูตรวิธีการทำที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ให้ได้ไปทำรับประทานกันแบบง่าย ๆ ได้ที่บ้าน ดังนี้ 

  1. ขั้นตอนแรกทำไส้ของขนมแดกงา โดยเริ่มจากการตั้งกระทะด้วยไฟอ่อน ใส่น้ำตาลปี๊บ และน้ำลอยดอกมะลิลงไปกวนให้ละลายเข้ากัน ตามด้วยเนื้อมะพร้าวลงไปเคี่ยวต่อให้เข้ากันจนแห้งลง และใส่ถั่วลิสงกวนต่อ เมื่อส่วนผสมทั้งหมดแห้งเข้ากันแล้วให้ตักมาพักไว้บนภาชนะรองด้วยกระดาษไข จัดวางเป็นชิ้นกลม ๆ ชิ้นละประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะ จากนั้นพักไว้ให้เย็น
  2. เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเหนียว และทยอยใส่น้ำเปล่าลงไปนวดให้เข้ากันจนจับตัวเป็นก้อน (ขั้นตอนนี้อย่าเทน้ำลงไปทีเดียวนะคะ เพราะจะทำให้ตัวแป้งเหลวเกินไปค่ะ)
  3. นำแป้งข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลมในปริมาณตามชอบ หรือพอดีคำ พอให้ห่อหุ้มไส้ได้ ต่อด้วยการบีบให้เป็นแผ่นบาง ใส่ไส้ที่เราเตรียมไว้ในขั้นตอนแรกลงไปตรงกลาง และทำการห่อหุ้มปั้นให้เป็นทรงกระบอก ทำซ้ำกับส่วนที่เหลือจนกว่าส่วนผสมจะหมดค่ะ เสร็จแล้วให้นำไปใส่ซึ้งที่รองไว้ด้วยใบตอง 
  4. ตั้งหม้อนึ่งจนน้ำเดือดจัดแล้วนำขนมที่เตรียมไว้ลงไปนึ่งเป็นเวลา 10 – 15 นาที
  5. ใส่งาขาว งาดำ และเกลือป่นลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันในชามผสม คีบขนมที่นึ่งแล้วมาคลุกเคล้าให้ทั่ว จากนั้นจัดใส่จานเสิร์ฟได้เลยค่ะ