Categories
ขนมไทย

สังขยาฟักทอง ขนมไทยทำง่าย อร่อย และมีประโยชน์

สังขยาฟักทอง ขนมไทยทำง่าย อร่อย และมีประโยชน์
สังขยาฟักทอง ขนมไทยทำง่าย อร่อย และมีประโยชน์

จะดีกว่าไหมถ้าเราได้รับประทานขนมหวานรสชาติดี แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในตอนนี้รำลังจะกล่าวถึง “สังขยาฟักทอง” ขนมไทยยอดนิยมที่มีขายกันอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นฟักทองลูกใหญ่ ๆ สอดไส้ด้วยสังขยา รสชาติหวานมันนุ่มละมุนลิ้น หอมกลิ่นฟักทอง และใบเตยที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำ ซึ่งส่วนตัวแล้วชอบขนมไทยชนิดนี้มาก และทำกินเป็นประจำในฤดูฝนที่มีฟักทองออกผลมามากมาย เพราะเป็นขนมที่สามารถทำได้ง่าย ปริมาณเยอะ ทานได้ทั้งบ้าน และยังอร่อยถูกปากอีกด้วยค่ะ ใครได้ลองทานแล้วก็ต่างติดอกติดใจในรสของขนมไทยชนิดนี้ 

เมื่อกล่าวถึงวัตถุดิบหลักอย่างฟักทอง หลายคนคงรู้กันเป็นอย่างดีว่าเป็นผลไม้สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาว และหวาน อีกทั้งยังมีประโยชน์มากมายต่อผู้ที่ได้รับประทาน ซึ่งเราขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วน เช่น ช่วยในการลดน้ำหนัก มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ที่บำรุงผิวพรรณ ชะลอรอยเหี่ยวย่น ป้องกันการเกิดโรคนิ่ว โรคหลอดเลือด และหัวใจ ฯลฯ ซึ่งในวันนี้เราก็นำสูตรในการทำสังขยาฟักทองมาแนะนำให้ทุกคนได้ทำตามกันแบบง่าย ๆ อีกด้วย

สังขยาฟักทอง ขนมไทยทำง่าย อร่อย และมีประโยชน์
ขอบคุณรูปภาพจาก https://bit.ly/3669hPH

วัตถุดิบในการทำสังขยาฟักทอง ขนมไทยหน้าตาน่าทาน

สังขยานั้นเป็นขนมไทยโบราณที่มีมานานตั้งแต่สมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งจัดเป็นขนมไทยอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส โดยการประยุกต์ปรับปรุงสูตรของต่างประเทศมาเป็นขนมไทยของท้าวทองกีบม้าอีกเช่นเคย โดยสังขยา หรือคัสตาร์ดของฝรั่งนั้นจะใช้นมวัวเป็นส่วนผสม แต่เมื่อนำมาทำเป็นขนมไทย จึงได้ใช้กะทิเป็นส่วนผสมแทน และวัตถุดิบอื่น ๆ ในการทำขนมสังขยาฟักทองนั้นก็สามารถหาได้ง่ายในประเทศไทย ทั้งร้านค้า ตลาด หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า และมีราคาที่ถูก ซึ่งวัตถุดิบที่เราจะใช้ในการทำขนมไทยชนิดนี้ก็มีเพียงไม่กี่อย่าง ดังนี้

  1. ฟักทองแก่ 1 ลูก คว้านเนื้อด้านในออก ทำความสะอาดด้านนอก 
  2. ไข่ไก่ 2 ฟอง (เบอร์ 1)
  3. ไข่เป็ด 2 ฟอง (เบอร์ 1)
  4. หัวกะทิ 200 มิลลิลิตร
  5. น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำ200 กรัม
  6. เกลือป่น 1/2 ชช.
  7. ใบเตย 10 ใบ
สังขยาฟักทอง ขนมไทยทำง่าย อร่อย และมีประโยชน์
ขอบคุณรูปภาพจาก https://bit.ly/3wcZ7r1

ขั้นตอนวิธีการทำสังขยาฟักทอง ทำทานง่าย ๆ ได้ที่บ้าน

อย่างที่เราได้เคยบอกกันไปแล้วนะคะ ว่าสังขยาฟักทองเป็นขนมไทยโบราณที่สามารถทำได้ง่ายมาก ๆ ใช้วัตถุดิบ และอุปกรณ์ในการทำเพียงไม่กี่อย่าง เราจึงสามารถนำมาทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านของเราเอง มือใหม่ไม่เคยทำขนมเลยก็สามารถทำได้ และเมื่อเราอัพสกิลการทำขนมไทยของเราให้เพิ่มขึ้นจนสามารถทำออกมาได้อย่างอร่อยแล้ว เราก็สามารถนำไปทำขาย เพื่อหารายได้เสริมได้อีกหนึ่งช่องทาง หรือใครที่มีการปลูกฟักทองอยู่แล้วที่บ้านก็ยิ่งลดต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบ และเพิ่มมูลค่าของฟักทองให้มากยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับใครที่อยากลองทำกันแล้ว ไปดูขั้นตอนการทำกันเลยค่ะ

  1. ขั้นตอนแรกใส่ไข่เป็ด ไข่ไก่ หัวกะทิ เกลือป่น น้ำตาลมะพร้าว และใบเตยมัดใส่ลงไปในชามผสม ใช้ตะกร้อมือตีให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี จากนั้นนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางลงไปในชามผสม 
  2. นำฟักทองที่คว้านเนื้อออกรองก้นฟักทองด้วยถ้วยที่สามารถทนความร้อนได้ จากนั้นค่อย ๆ เทสังขยาที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่ 1 ลงไปในฟักทอง โดยเหลือขอบฝาไว้ พักไว้ 5 นาที และทำซ้ำกับฟักทองอีกหนึ่งลูก
  3. ตั้งหม้อนึ่งด้วยไฟแรง ใส่น้ำ และใบเตยเพิ่มความหอม เมื่อน้ำเดือดแล้วให้นำฟักทองที่เตรียมไว้ใส่ลงไปนึ่งพร้อมถ้วย ปรับไฟอ่อน เป็นเวลา 5 นาที แล้วให้เปิดฝาหม้อมาช้อนฟองที่ลอยขึ้นมาทิ้ง และปิดฝานึ่งต่อเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือจนกว่าขนมของเราจะสุก ระหว่างนี้ให้คอยเปิดดูเป็นระยะทุก ๆ 15 นาที เพื่อให้ขนมของเรามีเนื้อเนียน
  4. เมื่อสุกแล้วให้นำออกจากหม้อนึ่งมาพักไว้ให้เย็น และนำมาผ่าครึ่งจัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ
Categories
ขนมไทย

ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค

ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค
ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค

ขนมในประเทศไทยนั้นแม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นขนมไทยเหมือนกันแต่ก็มีต้นกำเนิด และช่วงเวลาที่ถูกคิดค้นที่แตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ขนมต่างยุค ทำมาจากวัตถุดิบที่ต่างกัน ขนมที่มาจากในรั้วในวังก็มีความแตกต่างกับขนมที่ชาวบ้านทำเพื่อรับประทานกันเองอีกด้วย โดยจะสังเกตเห็นได้ถึงความต่างในความประณีตรวมไปถึงวัตถุดิบในการทำ ขนมที่ชาวบ้านทำรับประทานกันเองนั้นจะค่อนข้างเรียบง่าย และไม่ได้มีขั้นตอนที่ประณีตอะไรมากมายนัก แต่หากพูดถึงในส่วนของรสชาติแล้วล่ะก็ ต้องบอกเลยว่าอยู่ในระดับที่สูสีกันเลยทีเดียว ขนมที่เราจะมาแนะนำในวันนี้เป็นขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิคที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยรับประทานมาก่อนนั่นก็คือขนมใส่ไส้นั่นเอง

ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค
ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค

ขนมสอดไส้ ขนมพื้นบ้านที่มาพร้อมกับวัตถุดิบที่หาได้ง่าย

เราอาจจะเคยได้ยินชื่อวัตถุดิบที่ฟังดูแล้วไม่คุ้นหูและหาได้ยากอย่างเช่นแป้งท้าวยายม่อม ทำให้การทำขนมไทยในปัจจุบันนี้สามารถหาทานได้ยาก เนื่องจากวัตถุดิบเฉพาะไม่ค่อยมีคนนิยมนำเอามาขาย แต่สำหรับขนมใส่ไส้นั้นแม้ว่าจะเป็นขนมพื้นบ้านไทยแต่ก็มาพร้อมกับวัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายทั่วไป ประกอบไปด้วย

  1. มะพร้าวขูด ควรเป็นมะพร้าวทึนทึกที่มีเนื้อแน่นรสหวานกำลังดี ใช้ปริมาณ 1½ ถ้วยตวง
  2. น้ำตาลมะพร้าว เป็นน้ำตาลที่ให้กลิ่นหอมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ใช้ปริมาณ 1 ถ้วยตวง 
  3. น้ำสะอาดต้มสุก 
  4. เทียนอบควันเทียน สำหรับใครที่อยากจะให้ขนมมีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้นก็สามารถเตรียมเทียนสำหรับอบควันเทียนมาใช้ได้เช่นเดียวกัน แต่หากหาซื้อยากหรือไม่ชอบกลิ่นอบควันเทียนก็สามารถหลีกเลี่ยงไม่ใช้ได้
  5. แป้ง ประกอบไปด้วยแป้งข้าวเหนียว 2 ถ้วยตวงและแป้งข้าวเจ้า 1/3 ถ้วยตวง 
  6. น้ำเย็น สามารถแต่งกลิ่นได้ด้วยการแช่อัญชัน มะลิ หรือใบเตย ซึ่งนอกจากจะได้กลิ่นหอมแล้วยังได้สีธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความสวยงามอีกด้วย ใช้ในปริมาณ 1/3 ถ้วยตวง
  7. เกลือป่น 2 ช้อนชา
  8. หัวกะทิ หากใช้กะทิคั้นสดให้เลือกใช้เฉพาะส่วนหัวกะทิ แต่หากใช้กะทิกล่องสามารถใช้กะทิได้ทั้งกล่องโดยไม่ต้องแยกหัวหรือหางกะทิ ใช้ในปริมาณ 3 ถ้วยตวง 
  9. อุปกรณ์สำหรับห่อขนม สามารถใช้ได้ทั้งใบตองและไม้กลัด หรือจะนำใส่พิมพ์พลาสติกใสแบบที่นิยมในปัจจุบันก็ได้เช่นเดียวกัน
ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค
ขนมใส่ไส้ ขนมไทยพื้นบ้านสุดคลาสสิค

สูตรการทำขนมใส่ไส้ ขนมพื้นบ้านที่ทำง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

ขนมใส่ไส้นั้นเป็นขนมอีกหนึ่งชนิดที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นขนมไทยที่มีขั้นตอนยุ่งยากสลับซับซ้อน แต่ความจริงแล้ววิธีการทำนั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย เพียงแค่มีหลายขั้นตอนเท่านั้นเอง ซึ่งแต่ละขั้นตอนประกอบไปด้วย

  1. นำหม้อตั้งไฟปานกลาง นำมะพร้าวขูดลงไปกวนกับน้ำตาลมะพร้าวให้ละลายจนเหนียวได้ที่ จากนั้นให้นำเอาน้ำต้มสุกผสมลงไปแล้วคนเรื่อย ๆ จนกว่าส่วนผสมจะข้นจนเหนียวและแห้ง เราก็จะได้เป็นมะพร้าวขูดเคลือบน้ำตาลมะพร้าวที่เหนียวกำลังดี
  2. นำเอาส่วนผสมลงมาพักไว้จนเย็นหลังจากนั้นก็ให้นำเอามะพร้าวขูดที่ได้มาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดไม่เกิน 1 นิ้ว ในขั้นตอนนี้สำหรับใครที่อยากจะอบควันเทียนให้นำเอาไส้ที่ได้ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด หลังจากนั้นให้ทำการอบควันเทียนทิ้งไว้ แต่หากไม่ต้องการอบควันเทียนให้นำเอาไส้ใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิดพักเอาไว้
  3. นำเอาน้ำเย็นผสมกับแป้งข้าวเหนียวแล้วนวดจนกว่าจะสามารถปั้นได้ เมื่อแป้งได้ที่ให้ปั้นแป้งเป็นก้อนกลมขนาดกำลังดี 
  4. ตั้งกระทะเทฟล่อนหรือกระทะทองเหลืองด้วยไฟปานกลาง นำเอากะทิ แป้งข้าวเจ้า และเกลือป่นเทลงไปในกระทะ คนจนกว่าจะเข้ากัน กวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าส่วนผสมจะข้นได้ที่ จากนั้นให้ยกลงจากเตาแล้วพักเอาไว้จนเย็น
  5. นำเอาแผ่นข้าวเหนียวที่เราปั้นมาห่อไส้ ที่เราพักเอาไว้หรืออบควันเทียนทิ้งไว้ หลังจากนั้นเอาไปวางลงใบตอง และหงายใบตองขึ้นแล้วตักหน้าขนมที่เป็นส่วนของกะทิใส่ลงไปบนไส้ประมาณครึ่งช้อนชา ห่อให้เป็นทรงแล้วนำเอาไม้มากลัด นำเอาไปนึ่งเป็นเวลา 10 นาทีในหม้อนึ่งที่ตั้งจนน้ำเดือดเรียบร้อยแล้ว
  6. หากทำขนมใส่พิมพ์พลาสติกให้ทำการตักกะทิลงไปในถ้วยก่อนประมาณครึ่งหนึ่ง จากนั้นให้ห่อไส้ด้วยแป้งข้าวเหนียวแล้วนำเอาไปต้มจนสุก ก่อนจะนำมาใส่ในพิมพ์เป็นอันเสร็จสิ้น
Categories
ขนมไทย

หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้

หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้
หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้

หลายคนมองว่าขนมไทยนั้นเป็นขนมที่ทำยาก แต่ความจริงแล้วขนมเหล่านี้บางชนิดก็สามารถทำได้ง่าย ๆ แถมยังใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ทั่วไปอีกด้วย เพียงแต่ว่าขั้นตอนอาจจะมีความหลากหลายและยุ่งยากเล็กน้อย เนื่องจากขนมเหล่านี้เป็นขนมที่มีรายละเอียดในตัวค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นที่เราจะมาแนะนำในวันนี้เป็นขนมพื้นบ้านประจำเพชรบุรีอย่างหม้อแกงถั่ว ขนมโปรดของใครหลายคนที่รับประทานได้เพลิน ๆ ด้วยเนื้อสัมผัสที่เนียนนุ่ม ความหวานผสมกับความมันของไข่ เข้ากันได้ดีกับหอมแดงเจียวที่โรยด้านบน หากไปซื้อรับประทานรับรองว่าไม่อร่อยเท่าทำเองอย่างแน่นอน เพราะหากทำรับประทานเองทุกอย่างนั้นก็จะสดใหม่ เครื่องโรยหน้ายังคงหอมและกรอบอยู่ ในวันนี้เราจึงจะมาแนะนำสูตรและวิธีการทำขนมดังกล่าวให้ได้ลองทำตามกัน

หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้
หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้

วัตถุดิบที่ต้องเตรียมสำหรับการทำขนมกุมภมาศ

เชื่อหรือไม่ว่าขนมหม้อแกงถั่วที่เป็นขนมไทยพื้นบ้านที่สุดแสนจะธรรมดานี้จะมีอีกชื่อที่สวยงามอย่างขนมกุมภมาศ โดยสูตรที่เราจะมาแนะนำในวันนี้จะได้ขนมออกมาประมาณ 1 ถาดกลาง เมื่อแบ่งออกมาแล้วก็จะได้ขนมประมาณ 9 ชิ้นกำลังพอดีสำหรับรับประทานในครอบครัว ประกอบไปด้วย

  1. ถั่วเขียว 200 กรัม นำเอาไปนึ่งหลังจากนั้นให้นำเอาถั่วเขียวสุกมาบดจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน ยิ่งเราบดถั่วได้ละเอียดมากแค่ไหนเนื้อสัมผัสของขนมเราก็จะยิ่งเนียนมากขึ้นเท่านั้น
  2. ไข่เป็ดไซส์ใหญ่จำนวน 5 ฟอง 
  3. ใบเตย 1 กำ นำเอาใบเตยสดมาตัดให้มีขนาดกำลังพอดี ล้างให้สะอาด
  4. น้ำตาลปี๊บ 250 กรัม หากต้องการเพิ่มหรือลดความหวานก็สามารถเพิ่มลดปริมาณน้ำตาลได้ตามต้องการเล็กน้อย 
  5. หัวกะทิ 400 กรัม สามารถใช้ได้ทั้งกะทิคั้นสดเฉพาะส่วนของหัวกะทิหรือจะใช้กะทิสำเร็จรูปทั้งกล่องก็ได้เช่นเดียวกัน
  6. หอมแดงซอย 50 กรัม สามารถปรับปริมาณได้ตามความชื่นชอบ ยิ่งซอยบางเท่าไรเมื่อนำไปเจียวแล้วก็จะยิ่งกรอบมากขึ้นเท่านั้น 
  7. น้ำมันพืช 
หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้
หม้อแกงถั่ว ขนมไทยประจำเพชรบุรีที่สามารถทำเองได้

ขนมหม้อแกงถั่ว สามารถทำได้ในบ้านเพียงแค่มีเตาอบ

หลายคนไม่ทราบว่าขนมหม้อแกงถั่วนั้นมีขั้นตอนการทำอย่างไร ต้องบอกว่ามันเป็นขนมไทยที่แตกต่างจากขนมชนิดอื่นเพราะมันต้องใช้เตาอบ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่ไม่ได้มีทุกบ้าน ดังนั้นหากไม่มีเตาอบสามารถใช้เตาติ๊งหรือเตาอบลมร้อนแทนได้ แต่อาจจะต้องปรับอุณหภูมิและปริมาณอีกทีเพื่อให้ได้ขนมที่ออกมาสวยกำลังดี ขั้นตอนการทำมีดังนี้

  1. เตรียมเตาอบด้วยไฟอุณหภูมิประมาณ 180 – 200 องศาเซลเซียส
  2. นำกระทะตั้งไฟแล้วเทน้ำมันพืชลงไป เมื่อน้ำมันเริ่มร้อนให้เทหอมแดงลงไปเจียว ในขั้นตอนนี้ต้องระมัดระวังเพราะหอมแดงเป็นพืชที่มีน้ำตาลเยอะ หากไม่ระวังจะสามารถไหม้ได้ง่าย เมื่อได้สีตามที่ต้องการแล้วให้ยกออกทันทีโดยนำไปวางในตะแกรงสะเด็ดน้ำมัน สีของหอมเจียวจะเข้มขึ้นเล็กน้อย
  3. ตอกไข่ลงไปในชามผสม จากนั้นให้นำเอาใบเตยที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในชาม ใช้มือขยำไข่และใบเตยเข้าด้วยกันจนไข่ฟูเป็นฟอง
  4. เมื่อไข่เข้ากันและเป็นฟองแล้วให้ใส่น้ำตาลปี๊บลงไปแล้วขยำให้น้ำตาลปี๊บละลายเข้ากันดีจนกลายเป็นเนื้อเดียว 
  5. เทกะทิลงไปในชามผสมแล้วขยำอีกรอบให้เข้ากัน จากนั้นให้นำเอาส่วนผสมไปกรองด้วยตะแกรงหรือผ้าขาวบาง ในขั้นตอนนี้ให้หยิบใบเตยออกจากส่วนผสมได้เลย
  6. นำเอาถั่วเขียวบดลงไปผสมในชาม ใช้มือขยำจนส่วนผสมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
  7. นำกระทะตั้งไฟอ่อน เทน้ำมันพืชที่ใช้ทำหอมเจียวลงไป 3 ช้อนโต๊ะ แล้วนำเอาส่วนผสมเทลงไปในกระทะแล้วกวนให้เข้ากัน ในขั้นตอนนี้ให้กวนไปเรื่อย ๆ ห้ามหยุดมือเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นขนมจะไหม้ก้นกระทะ
  8. หลังจากกวนไปซักพักเนื้อขนมจะเหนียวขึ้น ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีให้ทำการเทขนมใส่ลงไปในพิมพ์
  9. นำเอาพิมพ์ที่เต็มไปด้วยขนมใส่ลงไปในเตาอบที่เราทำการวอร์มไว้ตั้งแต่ต้น อบประมาณ 40 นาทีแล้วแต่เตาของแต่ละบ้าน ควรทำการเช็คขนมเรื่อย ๆ ใช้วิธีการเดียวกับการเช็คเค้กนั่นก็คือการนำเอาไม้จิ้มฟันจิ้มลงไป ดูว่าไม้จิ้มฟันมีเศษขนมเปียก ๆ ติดออกมาหรือไม่ หากไม่มี และหน้าขนมแห้งแล้วแปลว่าขนมสุกได้ที่
  10. นำพิมพ์ออกมาจากเตาแล้วพักขนมให้เย็น จากนั้นสามารถตัดแบ่งพร้อมเสิร์ฟรับประทานคู่กับหอมเจียว
Categories
ขนมไทย

ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก

ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก
ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก

หากสังเกตให้ดีเวลาอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ เราจะพบว่าพวกท่านมักจะรับประทานข้าวเหนียวร่วมกับผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้สุกอย่างกล้วย มะม่วง ทุเรียน มะขาม และอาหารไทยโบราณแบบคาวนั้นก็มักจะมีส่วนผสมเข้ากับผลไม้เสมออย่างเช่นแกงเผ็ดสับปะรดหรือผัดเปรี้ยวหวาน เรียกได้ว่าคนไทยเรานั้นรับประทานข้าวเหนียวร่วมกับผลไม้กันมาอย่างช้านาน แต่ในปัจจุบันนี้ข้าวเหนียวที่เราใช้รับประทานเป็นของหวานร่วมกับผลไม้มักจะเป็นข้าวเหนียวมูน ของหวานที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่ในอดีต นอกจากจะรับประทานกับผลไม้แล้วอร่อยยังสามารถรับประทานกับหน้าต่าง ๆ ได้มากมายอย่างเช่น หน้าสังขยาหรือหน้ากระฉีก แม้ว่ามันจะฟังดูเป็นของหวานที่ทำยากแต่ความจริงแล้ววิธีการง่ายกว่าที่คิด ในวันนี้เราจึงจะมาแนะนำสูตรและวิธีการทำให้ได้ลองทำตามกัน

ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก
ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก

ข้าวเหนียวน้ำกะทิ สูตรขนมไทยที่สามารถหาวัตถุดิบทำได้ง่าย ๆ 

ในขั้นตอนแรกของการทำข้าวเหนียวมูนเราจะต้องเตรียมส่วนผสมให้พร้อม ประกอบไปด้วย

  1. ข้าวเหนียว เราขอแนะนำให้ใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีรูปร่างเมล็ดเรียวยาวกว่าข้าวตามปกติที่เรารับประทาน แม้ว่ามันจะมีกลิ่นหอมไม่สู้ข้าวเหนียวหอมมะลิ แต่ด้วยลักษณะที่ดูดซึมน้ำได้น้อยกว่าทำให้ถึงแม้ว่าเราจะเอาไปเคี่ยวกับน้ำกะทิแล้วมันก็ยังคงมีลักษณะเป็นเม็ดเรียงตัวสวยงาม ข้าวที่ได้ออกมาจะมีความสวยงาม และยังคงเป็นเมล็ดไม่เละเป็นโจ๊ก
  2. กะทิ วัตถุดิบหลักของขนมไทยหลายชนิด หากสามารถหากะทิคั้นสดได้ขอแนะนำให้ใช้กะทิคั้นสดส่วนของหัวกะทิที่มีความเข้มข้นและความมัน แต่หากไม่สามารถหาซื้อกะทิคั้นสดได้ก็สามารถเลือกใช้กะทิกล่องได้เช่นเดียวกัน หากต้องการกลิ่นหอมควันเทียนก็สามารถเลือกใช้กะทิสูตรที่อบควันเทียนมาแล้วก็จะช่วยให้ข้าวของเรามีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น
  3. สารส้ม เป็นสารส้มสำหรับทำอาหารที่เอาไว้แช่ข้าวเหนียวก่อนที่เราจะนำไปหุง เช่นเดียวกับขั้นตอนการหุงข้าวเหนียวทั่วไปที่จะต้องทำการแช่ข้าวเหนียวไว้ก่อนเพื่อให้เมื่อหุงออกมาแล้วจะฟูขึ้นหม้อและเป็นเม็ดสวย
  4. น้ำตาลทราย เพื่อให้สีของข้าวออกมาสวยงามควรเลือกใช้เป็นน้ำตาลทรายขาว แต่หากต้องการกลิ่นหอมและไม่ได้กังวลเรื่องสีของข้าวว่าจะมีติดอมเหลืองก็สามารถใช้น้ำตาลทรายแดงได้เช่นเดียวกัน 
  5. เกลือป่น เกลือจะเข้ามาช่วยเสริมรสชาติให้ข้าวของเรามีรสหวานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรสเค็มนั้นจะช่วยให้ประสาทรับรสหวานของลิ้นเราทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นมันยังช่วยให้ข้าวของเราไม่เลี่ยนจนเกินไปอีกด้วย
  6. ใบเตยสด ก้านใบเตยธรรมดาทั่วไปที่เราสามารถหาซื้อได้ตามตลาด นำเอามามัดเป็นปมทิ้งไว้ ใบเตยจะช่วยให้กลิ่นของข้าวหอมและได้รสชาติที่มีมิติมากยิ่งขึ้น
ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก
ข้าวเหนียวมูน ขนมไทยที่ได้รับความนิยมไกลไปทั่วโลก

วิธีการทำข้าวเหนียวมูลแบบง่าย ๆ ไม่ง้อร้าน

แม้ว่าข้าวเหนียวมูนนั้นจะดูเป็นขนมไทยที่มีขั้นตอนการทำสลับซับซ้อนและทำยาก แต่ความจริงแล้วมันเป็นของว่างที่สามารถทำได้ง่าย เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหัดทำขนมเพราะอัตราส่วนนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องวัดให้เป๊ะเหมือนกับการทำเบเกอรี่ วิธีการทำมีขั้นตอนดังนี้

  1. นำเอาข้าวเหนียวในปริมาณที่ต้องการแช่ไว้ในน้ำแล้วเอาสารส้มลงไปกวนเป็นเวลา 5 นาที หลังจากนั้นให้เทน้ำออก
  2. เทน้ำสะอาดลงแช่ข้าวเหนียวทิ้งไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงหรือค้างคืน หากต้องการให้ข้าวเหนียวมีสีสันสามารถผสมสีจากธรรมชาติอย่างเช่น ขมิ้น อัญชัน หรือจะใช้สีผสมอาหารแทนก็ได้เช่นเดียวกัน
  3. เมื่อครบเวลาแช่ข้าวเหนียวให้เทน้ำออก หลังจากนั้นก็นำไปนึ่งตามปกติจนได้เป็นข้าวเหนียวที่สุกเรียบร้อยแล้ว มาพักทิ้งไว้
  4. นำหม้อตั้งไฟปานกลาง นำกะทิใส่หม้อแล้วใส่เครื่องปรุงที่ประกอบไปด้วยเกลือ น้ำตาล และใบเตย คนให้เข้ากันแล้วทิ้งไว้จนเดือด 
  5. เมื่อกะทิเดือดได้ที่แล้วให้ปิดไฟเพื่อป้องกันกะทิแตกมัน จากนั้นให้นำน้ำกะทิลงไปผสมกับข้าวเหนียวแล้วคนให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้ข้าวเหนียวและกะทิเข้ากันเป็นเวลา 15 นาทีแล้วทำการคนให้เข้ากันอีกครั้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้ข้าวเหนียวน้ำกะทิแบบทำง่าย สามารถทำรับประทานเองได้ที่บ้านแล้ว
Categories
ขนมไทย

ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ

ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ
ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ

ขนมไทยที่เราจะนำมาบอกสูตรให้กับทุกคนในวันนี้คือ “ครองแครงอัญชัน” ขนมรูปร่างละม้ายคล้ายหอยแครง ในปัจจุบันนั้นมีการประยุกต์ใช้สีปรุงแต่งทั้งสีผสมอาหารและสีจากธรรมชาติให้ความหลากหลายทางด้านสีสัน ทำให้เพิ่มความน่ากินขึ้นไปอีก บวกกับรสสัมผัสเหนียวนุ่มละมุนลิ้น เด้งดึ๋งสู้ฟันกันแบบสุด ๆ แถมยังมีรสชาติหวานมันอีกด้วย ยังไม่พอค่ะยังมีความหอมจากกลิ่นกะทิ กลิ่นงาคั่วอีกด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นขนมไทยที่ใครได้กินก็ต้องติดใจกันทุกราย 

ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ
ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ

ส่วนผสมของขนมไทยแสนอร่อย ครองแครงอัญชัน

ก่อนอื่นต้องบอกเลยนะคะว่าขนมครองแครงอัญชันนั้นเป็นขนมที่มีวัตถุดิบในการทำที่หาซื้อได้ง่ายตามตลาดทั่วไป ราคาไม่แพง อีกทั้งบางวัตถุดิบยังสามารถเก็บไว้ทำขนมไทยชนิดอื่นได้ในครั้งต่อไป และบางวัตถุดิบก็เป็นวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในครัวของคุณเอง รู้อย่างนี้แล้วเราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าวัตถุดิบมีอะไรบ้าง

  1. งาขาวที่ผ่านการคั่วจนหอมกรุ่น จะคั่วเองหรือจะใช้งาขาวแบบสำเร็จรูปก็ได้นะคะ ใช้ในการโรยหน้าขนม ปริมาณแล้วแต่ชอบของแต่ละคนเลยค่ะ
  2. แป้งข้าวเจ้าวัตถุดิบยอดฮิตในการทำขนม ปริมาณ 1 ถ้วย
  3. แป้งมันแป้งที่ช่วยให้ขนมมีสีโปร่งแสง ปริมาณ 2 ถ้วย
  4. กะทิคั้นสด หรือใช้กะทิกล่องแทนก็อร่อยไม้แพ้กันค่ะ ปริมาณ 1 ลิตร
  5. เกลือป่น วัตถุดิบชูรสหวานให้โดนเด่น กลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ปริมาณ 1 ช้อนชา
  6. น้ำตาลทรายขาว ปริมาณ 1 ถ้วย ถ้าชอบหวานก็สามารถเติมได้นะคะ
  7. ดอกอัญชันเพิ่มสีสัน ปริมาณ 20 ดอก
  8. น้ำเปล่า ½ ถ้วย
  9. เนื้อมะพร้าวอ่อน ปริมาณ 1 ลูก
  10. ใบเตยล้างสะอาด มัดรวมกันในปริมาณ 3 ใบ 
ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ
ขนมครองแครงอัญชัน น้ำกะทิหวานมัน เนื้อมะพร้าวกรุบกรับ

ขั้นตอนการทำขนมครองแครงอัญชัน ให้รสชาติหวานมันกลมกล่อม

ขนมที่มีวิธีการทำคล้ายกับบัวลอย แต่จะซับซ้อนกว่านิดหน่อยตรงที่ต้องใช้พิมพ์ในการทำให้ขนมเป็นรูปร่างคล้ายเปลือกหอย คนที่เคยผ่านการทำบัวลอยหรือขนมไทยชนิดอื่น ๆ มาแล้วจะสามารถทำได้อย่างง่ายดายเลยละค่ะ แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำก็สามารถทำได้เหมือนกันนะคะ 

  1. นำแป้งมันและแป้งข้าวเจ้ามาผสมให้เข้ากันในภาชนะที่ได้เตรียมไว้ หลังจากนั้นนำแป้งมาแบ่งออกเป็นสองส่วนในปริมาณที่เท่ากัน 
  2. นำดอกอัญชันที่ล้างสะอาดแล้วไปต้มกับน้ำเดือดจนได้สีเข้มตามที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงกรองเพื่อแยกดอกอัญชันกับน้ำออกจากกัน จากนั้นเทน้ำร้อนลงในน้ำดอกอัญชันที่เราได้แยกไว้ เทน้ำลงไปจนกว่าจะได้สีที่พึงพอใจและแตกต่างกัน
  3. เทน้ำดอกอัญชันที่ผสมน้ำร้อนแล้วถ้วยแรกใส่ลงไปในแป้งที่เราได้แยกไว้แล้วใช้พายคนเบา ๆ ให้ส่วนผสมเข้ากัน และค่อย ๆ ใช้มือนวดแป้งไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจับตัวกันเป็นก้อน 
  4. ทำแบบเดียวกันกับน้ำดอกอัญชันและแป้งที่ได้แยกไว้ เสร็จแล้วเราก็จะได้แป้งกลม ๆ สองก้อนสำหรับใช้ในขั้นตอนต่อไปกันแล้วค่ะ
  5. แบ่งแป้งเป็นชิ้นขนาดประมาณนิ้วก้อย แล้วนำไปกดใส่พิมพ์สำหรับทำครองแครงอัญชันของเราจนทำให้เกิดลายขนมอย่างที่เราเห็น และทำแบบเดียวกันทุกชิ้นจนกว่าแป้งจะหมด 
  6. ตั้งหม้อและรอจนกระทั่งน้ำเดือนจึงค่อยนำครองแครงที่เราทำให้เป็นรูปเป็นร่างแล้วลงไป เมื่อแป้งสุกแล้วจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ และมีความใสขึ้นค่ะ หลังจากนั้นตักมาพักไว้ในน้ำเย็นทันทีนะคะ แป้งจะได้ไม่ติดกันค่ะ
  7. ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนการทำน้ำกะทินะคะ ใส่น้ำกะทิลงไปเลยค่ะ ตามด้วยน้ำตาลทรายขาว เนื้อมะพร้าวอ่อนขูด ใบเตย และเกลือตามลำดับค่ะ ค่อย ๆ คนให้ส่วนผสมละลายเข้ากัน หลังจากนั้นรอจนน้ำกะทิเดือดค่อยแยกใบเตยออกนะคะ
  8. ขั้นตอนสุดท้ายตักครองแครงใส่ถ้วยแล้วราดน้ำกะทิที่ โรยงาขาวตามความชอบ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ขนมไทยแสนอร่อยมารับประทานกันที่บ้านอย่างหนำใจแล้วค่ะ แต่สำหรับใครที่อยากทำขายก็สามารถทำได้นะคะ 
Categories
ขนมไทย

ขนมเกสรลำเจียก ขนมพื้นบ้าน ไส้หวานกรุบกรอบ หอมกลิ่นใบเตย

ขนมเกสรลำเจียก

จังหวัดอ่างทองไม่ได้มีแค่สถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เท่านั้น แต่ยังมีขนมหวานแสนอร่อย อย่าง ขนมเกสรลำเจียก สอดไส้มะพร้าวขูด กลิ่นหอมยั่วยวนใจคนที่ผ่านไปผ่านมาสุดๆ สำหรับขนมไทยลำเจียกสามารถซื้อทานร้อนๆ จากเตาได้เลยยิ่งอร่อย ส่วนราคาต้องบอกเลยว่าคุ้มค่า คุ้มราคาแน่นอน ส่วนขั้นตอนการทำขนม เกสร ลำเจียกไม่ยุ่งยาก และไม่ซับช้อน ใครที่คิดอยากทำทานเองก็ได้ เพียงแค่มีกระทะหนึ่งอันก็สามารถทำขนมได้สบายมาก หรืออยากลองทำขายออนไลน์ก็ขายดีกำไรปังชัวร์ 

ขั้นตอนทำ ขนมเกสรลำเจียก สูตรโบราณ นุ่ม หอม กรุบกรอบ 

ขนมเกสรลำเจียก

ขนมพื้นบ้านแสนอร่อยต้องยกให้ ขนม เกสรลำเจียก เป็นขนมที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่คัดสรรมาอย่างดี จึงทำให้รสชาติของขนมมีความหวาน หอม ไส้มะพร้าวกรุบกรอบละมุนลิ้นจนอดใจไม่ไหวต้องทำทานเองเลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อเอาใจสายขนมไทย โบราณพื้นบ้าน เราจะมาแจกสูตรขนม ดอก ลำเจียกแป้งนุ่ม โดยมีวัถุดิบ และส่วนผสมดังนี้ 

  1. แป้งข้าวเหนียว 1 ½ ถ้วยตวง
  2. น้ำเปล่า ½ ถ้วยตวง
  3. มะพร้าวขูดทึนทึก 1 ถ้วยตวง
  4. น้ำใบเตย ¼ ถ้วยตวง
  5. น้ำตาลทราย ¼ ถ้วยตวง

อุปกรณ์ที่ใช้ทำขนมเกสร ลำเจียก ได้แก่ เทียนอบ กระทะทองเหลือง และไม้พาย ส่วนสีผสมอาหารจะใช้สีจากธรรมชาติ อย่าง น้ำอัญชัน และน้ำใบเตย เพื่อเพิ่มสีสันให้ขนม หวาน ไทยน่าทานยิ่งขึ้น 

ขนมเกสรลำเจียก
  1. นำแป้งข้าวเหนียวใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด ทำการอบด้วยควันเทียนไว้ประมาณ 15-30 นาที เสร็จแล้วใส่น้ำลงไปทีละน้อย ผสมส่วนผสมให้เข้ากัน จนกว่าจะได้แป้งเนื้อเนียนละเอียด จากนั้นคลุมด้วยผ้าขาวบาง เพื่อป้องกันไม่แป้งแห้ง แป้งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ใส่น้ำอัญชัญและน้ำใบเตยลงไป นวดให้เข้ากันอีกครั้ง 
  2. ต่อมาจะเป็นการทำไส้ขนมด้วยการนำแป้งข้าวเหนียว ½ ช้อนโต๊ะ และน้ำเปล่า ½ ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน ใส่มะพร้าวทึนทึก น้ำใบเตย ลงในกระทะทองเหลือง ยกตั้งไฟอ่อนๆ ใช้ไม้พายกวนจนกว่าน้ำจะงวดลง และเนื้อมะพร้าวสุก เทแป้งที่ผสมไว้ลงไป กวนให้เข้ากันจนกว่าเนื้อมะพร้าวจะเกาะกันเป็นก้อนเล็กน้อย จากนั้นนำมาเทใส่ถาดคลึงแป้งเป็นแท่งความยาวประมาณ 3 นิ้ว จัดใส่จานเตรียมพักไว้ก่อน 
  3. นำกระทะที่เตรียมไว้ตั้งไฟอ่อนๆ ให้กระทะร้อนให้ยีแป้งผ่านกระชอนถี่ๆ ให้แป้งบางเสมอกัน หลังจากที่แป้งเริ่มเกาะกันดีแล้วให้วางไส้ตรงขอบแป้งด้านใดด้านหนึ่ง เสร็จแล้วใช้มือม้วนให้แน่น ห่อไส้ให้มิดชิด นำมาวางไว้บนจานไว้พร้อมทาน
ขนมเกสรลำเจียก

เป็นอันเสร็จแล้วกับขนมเกสรลําเจียก สูตรแป้งนุ่ม หนึ่งในสูตร ขนม ไทย สีสันสดใส รสชาติหวานละมุน เนื้อสัมผัสกรุบกรอบอร่อยโดนใจคนทั้งครอบครัว อีกทั้งขนมเกสรลำเจียกสามารถทำขายตามตลาดนัดแถวบ้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นขนมไทย ทำเองที่มีความแปลกใหม่อร่อยจนลูกค้าติดอกติดใจต้องกลับมาซื้อซ้ำกันทุกราย 

หมายเหตุ! ทำขนมเกสรลำเจียก แป้งนุ่มนิ่ม เหมือนซื้อทานจากร้านดัง 

ขนมเกสรลำเจียก

เกสรลำเจียก ถือว่าเป็นขนม ไทย ทำ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้ส่วนผสมเยอะเหมือนขนมชนิดอื่น แถมรสชาติอร่อยไม่จำเจทานได้ทุกวัน ส่วนวิธีการทำขนมให้มีกลิ่นหอมอบอวลจะต้องนำแป้งไปอบควันเทียนทิ้งไว้นานข้ามคืน และในขั้นตอนนวดแป้งจะนวดให้แป้งจับกันเป็นก้อนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง เสร็จแล้วนำแป้งไปโรยในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ ขนมจะเนื้อนุ่มอร่อย และต้องรีบใส่ไส้ลงไปหลังจากแป้งเริ่มเกาะกันดี เพราะหากปล่อยแป้งไว้นานเกินไปแป้งจะกรอบแตกไม่สามารถห่อได้นั่นเอง หลังจากที่ได้ดูเคล็ดลับการทำขนม ไทย ง่ายๆ อย่างเกสรลำเจียกไปแล้ว หวังว่าทุกคนจะสนุกกับการทำขนมด้วยตัวเองในครั้งนี้ 

อ่านบทความอื่นๆ:

Categories
ขนมไทย

ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

ขนมช่อม่วงขนมไทยที่นิยมใช้ทานกันในวังเป็นของว่างพร้อมกับผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู เป็นขนมที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นขนมที่ใช้ศิลปะและความอดทนในการทำ เพราะเป็นขนมไทยชาววัง จึงมีรูปร่างหน้าตาเป็นรูปดอกไม้ที่สวยงาม บ่งบอกถึงความประณีตตั้งใจของคนทำ อีกทั้งยังเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนขนมชาติอื่น ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้รู้จัก ซึ่งในปัจจุบันขนมช่อม่วงนั้นหาทานได้ยากมาก อาจจะเป็นวิธีการที่ยากบวกกับเป็นขนมที่มีความชื้นทำให้ไม่สามารถเก็บไว้นานได้ จึงไม่นิยมทำขายกันในปัจจุบัน

ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

วัตถุดิบการทำขนมไทยโบราณสมัยรัชกาลที่ 2 

เป็นที่รู้กันดีว่าขนมไทยชนิดนี้เป็นขนมที่หาทานได้ยาก แม้วัตถุดิบในการทำจะเยอะแต่ก็หาได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไปในปัจจุบัน บางวัตถุดิบก็มีอยู่แล้วในครัวเรือน ส่วนผสมของช่อม่วงทำมาจากแป้งถึงสี่ชนิด ทำให้มีรสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม ยืดหยุ่นสู้ฟัน เชื่อว่าหากใครได้ลองชิมแล้วจะหลงรักจนลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว

  1. แป้ง ประกอบไปด้วย แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง แป้งท้าวยายม่อม 1 ชต. แป้งข้าวเหนียว 1 ชต.แป้งมัน 1 ชต.
  2. เนื้อหมูสับละเอียด 200 กรัม
  3. หอมใหญ่หั่นเต๋า 1/2 ถ้วยตวง
  4. สามเกลอ ประกอบไปด้วย รากผักชีโขลก 4 ราก กระเทียม1 ชต.พริกไทยเม็ด 1 ชช.
  5. น้ำดอกอัญชัญ 1 ถ้วยตวง ใช้ดอกอัญชัญประมาณ 15 – 20 ดอก
  6. น้ำมะนาวสดครึ่งซีก
  7. น้ำมันพืช 2 ชต.
  8. ซีอิ๊วขาว 4 ชต.
  9. เกลือป่น 1/2 ชช.
  10. น้ำตาลทรายขาว 3 ชต.
  11. น้ำมันกระเทียมเจียว 
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

วิธีการทำขนมช่อม่วง ขนมไทยหลากหลายขั้นตอน 

ขนมช่อม่วงเป็นขนมที่มีรสชาติ หวาน มัน และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สอดไส้รสชาติเครื่องเทศสามเกลอ และเนื้อหมู เป็นขนมที่มีรสชาติอร่อยครบรสทั้งคาวและหวานในคำเดียวกัน แต่กว่าจะเป็นขนมที่เราได้รับประทานนั้น มีวิธีการทำหลายขั้นตอน

  1. เริ่มจากการผัดไส้ขนม ด้วยการนำน้ำมันเทลงไปในกระทะแล้วรอจนน้ำมันร้อน ตามด้วยการใส่ สามเกลอโขลกละเอียด หอมใหญ่ ผัดให้หอมจนหอมใหญ่ใส ตามด้วยหมูผัดต่อจนเริ่มสุกแล้วปรุงรสด้วย น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว เกลือป่น ตามลำดับลงไปผัดให้เข้ากันจนไส้แห้ง ในขั้นตอนนี้สามารถชิมแล้วปรุงรสเพิ่มได้ตามชอบ
  2. นำแป้งทั้งสี่ชนิดมาร่อนรวมกัน 2 – 3 รอบ ใส่ถ้วยอะลูมิเนียมแล้วคนให้เข้ากันจนเนียนละเอียด บีบมะนาวลงไปในน้ำอัญชันแล้วคนให้เปลี่ยนเป็นสีม่วง จากนั้นค่อย ๆ เทน้ำอัญชันลงไปในแป้งที่เตรียมไว้ ตามด้วยน้ำมันพืช คนให้ส่วนผสมเข้ากันด้วยที่ตีไข่ 
  3. นำส่วนผสมที่เข้ากันแล้วกรองใส่กระทะ เพื่อนำมากวนด้วยไฟกลางค่อนแรงกวนตลอดเวลาจนแป้งร่อน ห้ามกวนนานจนแป้งสุก เพราะจะทำให้ช่อม่วงของเราแข็งกระด้าง
  4. นำแป้งออกจากกระทะแล้วใช้ไม้พายเป็นตัวช่วยในการนวดแป้งที่ยังร้อนอยู่ให้เนียน เมื่อแป้งเย็นลงแล้วให้ใช้มือแตะน้ำมันพืชมานวดแป้งต่อจนแป้งเนียน แล้วนำผ้าขาวบางคลุมพักแป้งไว้ 30 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้แป้งแห้ง
  5. จับแป้งที่พักไว้ขึ้นมาตามขนาดขนมที่ต้องการต่อหนึ่งชิ้น นวดคลึงเล็กน้อยก่อนจะปั้นเป็นวงกลมแล้วแผ่แป้งออกมาไม่ให้บางจนเกินไป ตักไส้ขนมปริมาณ 1 ช้อนชา ใส่ลงไปในแป้งที่แผ่ออกแล้วปั้นเป็นวงกลมห่อหุ้มไส้ขนม ทำซ้ำกับแป้งและไส้ที่เหลือจนกว่าจะหมด
  6. มาถึงขั้นตอนที่ต้องอาศัยความประณีตในการทำที่สุด คือขั้นตอนการจับจีบขนมให้เป็นรูปดอกไม้ โดยใช้แหนบสำหรับจับจีบขนมจุ่มลงไปในน้ำมันพืช จับจีบแป้งสอดไส้ที่เตรียมไว้ทีละชั้นให้เป็นรูปดอกไม้สวย ๆ ประมาณ 4 ชั้น 
  7. เตรียมหม้อนึ่ง วางพื้นหม้อนึ่งด้วยใบตองแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อให้ขนมไม่ติดก้นหม้อ ต่อด้วยการวางขนมลงไปบนใบตอง นึ่งด้วยไฟอ่อน โดยใช้เวลา 5 – 7 นาที สุกแล้วให้ทาน้ำมันกระเทียมเจียว เพื่อให้แป้งหอมและไม่แข็ง จัดเสิร์ฟพร้อมผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู 
Categories
ขนมไทย

ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก

ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก
ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก

ขนมจีบนกนั้นในอดีตเรียกกันว่าขนมไส้หมูเป็นขนมชาววัง หรือจะเรียกอีกชื่อว่าขนมจีบไทยก็ไม่ผิด โดยมีกรมหลวงนรินทรเทวีเป็นผู้ริเริ่ม เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อีกทั้งยังเป็นของทรงโปรดให้ทำไปถวายบ่อยครั้ง นิยมรับประทานกันเป็นอาหารว่างพร้อมกับผักชี ผักกาดหอม กะเทียมเจียว ตะลิงปริง และพริกขี้หนู มีรูปร่างสวยงามเป็นรูปตัวนก ภายในมีไส้หมูสับห่อหุ้มด้วยแป้งนุ่มจับจีบอย่างสวยงามด้วยความประณีต ในปัจจุบันนั้นเป็นขนมไทยที่หาทานได้ยากมาก ๆ หรือจะเรียกว่าไม่มีขายให้รับประทานเลยก็ไม่ผิด ทำให้หลายคนไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินชื่อของขนมไทยชนิดนี้ 

ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก
ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก

วัตถุดิบในการทำขนมจีบไทย

ขนมจีบหมูด้านนอกนั้นมีวัตถุดิบที่มากมายหลากหลายชนิด เนื่องจากเป็นขนมที่มีแป้งด้านนอก และไส้ด้านใน จึงขอแบ่งวัตถุดิบออกเป็นสองส่วน ดังนี้

ส่วนผสมไส้

  1. หมูสับ 350 กรัม หรือใครชอบรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็สามารถใช้แทนกันได้ในปริมาณเท่ากัน
  2. ไชโป๊วสับ 200 กรัม
  3. ถั่วลิสงคั่วบด 200 กรัม
  4. สามเกลอโขลกละเอียด ประกอบด้วย กระเทียม 5 กลีบ พริกไทย 1/2 ช้อนโต๊ะ รากผักชี 3 ราก
  5. น้ำตาลปี๊บ 150 กรัม 
  6. เกลือ 1 ช้อนชา
  7. ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  8. ซีอิ๊วดำ 1 ช้อนชา
  9. หอมแดงสับ 100 กรัม

ส่วนผสมแป้ง

  1. แป้งข้าวจ้าว 200 กรัม
  2. แป้งมันหรือแป้งท้าวยายม่อม 4 ช้อนโต๊ะ 
  3. น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
  4. เกลือ 1/4 ช้อนชา
  5. กะทิสำเร็จรูป 100 ml
  6. น้ำเปล่า 250 ml
  7. ของตกแต่ง งาดำ แครอท 
  8. น้ำมันกระเทียมเจียว
ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก
ขนมจีบนก ขนมจีบไทยโบราณ หน้าตาน่ารัก

วิธีการทำขนมจีบนก ขนมจีบของไทย

ขนมจีบนกนั้นหน้าตาและวิธีการทำคล้ายขนมช่อม่วงที่ทั้งประณีตและหลายขั้นตอน หากใครเคยทำขนมช่อม่วงจะทำได้อย่างง่ายดาย ในอดีตใช้มือในการจับจีบทำให้ใช้เวลาในการทำนาน แต่ในปัจจุบันนั้นมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการจับจีบอย่างแหนบจีบขนม ช่วยลดระยะเวลาในการทำและช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้น หากใครอยากลองชิมดูสักครั้ง แนะนำให้ลองทำเองตามสูตรที่เราได้นำมาฝากกันนะคะ

  1. ขั้นตอนแรกตั้งเตาด้วยไฟอ่อนใส่น้ำมันพืชลงไปในกระทะรอจนร้อนแล้วใส่สามเกลอลงไปผัดให้มีกลิ่นหอม ตามด้วยหอมแดงสับผัดต่อให้สุกจนมีสีใส ใส่หมูสับลงไปผัดต่อให้เข้ากันจนหมูสับเริ่มสุกให้ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และเกลือป่นผัดให้เข้ากัน พอหมูสับสุกให้ใส่น้ำตาลปี๊บลงไปผัดต่อจนน้ำตาลละลาย ใส่ไชโป๊วสับลงไปผัดให้สุก ตามด้วยถั่วลิสงคั่ว ผัดต่อให้แห้งและเหนียว เสร็จแล้วพักให้เย็น 
  2. นำไส้ขนมทั้งหมดมาปั้นเป็นก้อนกลมตามขนาดที่ต้องการ เพื่อเตรียมทำไส้ขนม
  3. ผสม แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำตาลทราย เกลือป่น กะทิ และน้ำเปล่าเข้าด้วยกัน นวดต่อให้ละลายเข้ากันดี นำมากรองผ่านกระชอนหรือผ้าขาวบางเพื่อแยกส่วนที่ยังไม่ละลายออก
  4. ตั้งกระทะเปิดเตาไฟอ่อนแล้วใส่แป้งที่ผ่านการกรองเสร็จแล้วลงไป ใช้ไม้พายกวนตลอดเวลาจนกว่าแป้งจะสุกจนจับตัวกันเป็นก้อน ปิดเตา ใส่ชามพักให้เย็น ขณะพักแป้งให้คลุมด้วยผ้าขาวบางเพื่อไม่ให้แป้งแห้งจนเกินไป
  5. นวดต่อให้แป้งเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน (หากแป้งแฉะเกินไปให้โรยแป้งข้าวเจ้าใส่เล็กน้อย) 
  6. เมื่อแป้งเนียนแล้วให้นำแป้งไปปั้นขึ้นรูปคล้ายรูปชมพู่ และแผ่ตรงผลออกเพื่อใส่ไส้ลงไปแล้วห่อกลับไปให้เป็นรูปผลชมพู่อีกครั้ง ใช้แหนบสำหรับหนีบขนม หนีบรอบข้างให้เป็นปีกนก ทำซ้ำจนกว่าแป้งและไส้จะหมด
  7. แต่งหน้าขนมของเราด้วยงาดำติดเป็นตานก แครอทหั่นแหลมเป็นปากนกติดลงไป เพื่อให้มีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายนกมากขึ้น
  8. นำใบตองมารองก้นหม้อเพื่อป้องกันไม่ให้ขนมติด และยังทำให้ขนมของเรานั้นติดกลิ่นหอมจากใบตอง ต่อด้วยการวางขนมลงไปบนใบตอง 
  9. เมื่อน้ำเดือดแล้วให้ใส่หม้อนึ่งที่ใส่ขนมแล้วลงไปนึ่ง พรมน้ำให้ทั่วเพื่อไม่ให้แป้งแห้ง ปิดฝานึ่งด้วยไฟแรงเป็นเวลา 5 นาที หรือจนกว่าแป้งจะสุกตามความหนาของแป้งที่เราปั้น ทาด้วยน้ำมันกระเทียมเจียว เสร็จแล้วนำมาจัดใส่จานตกแต่งเพิ่มเติมด้วยผักกาดหอม ผักชี และพริกชี้ฟ้า หรือผักอื่น ๆ ตามความชอบ เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับประทานขนมจีบนก ขนมไทยที่หาทานยากกันแล้วค่ะ

ทางเข้า gclub