
ประเทศไทยนั้นมีประวัติมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และขนมไทยก็อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเรามาตลอดทุกยุคทุกสมัย ทำให้บางครั้งถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเรารู้จักกับขนมไทยเป็นอย่างดีแทบจะทุกชนิด แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะมีขนมโบราณโผล่ขึ้นมาให้เราได้แปลกใจอยู่เสมอ อย่างเช่นขนมที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้นั่นก็คือขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมที่มีวิธีการทำที่ยากและต้องอาศัยความประณีตสูง ทำให้มันเป็นขนมที่เราหากินได้ยากแล้วในปัจจุบันเพราะแทบจะไม่มีใครทำออกมาขาย เป็นขนมที่เหมาะสำหรับคนที่เคยผ่านการทำขนมไทยมาบ้างแล้ว เพราะมันจะเป็นการเพิ่มความสามารถและความชำนาญของคุณขึ้นไปอีกขั้น หากต้องการจะท้าทายฝีมือของตนเองแล้วล่ะก็ วันนี้เรามีสูตรมาแนะนำให้ลองทำตามกัน

วัตถุดิบที่ต้องเตรียมสำหรับการทำขนมโบราณจากเพลงบุหลันลอยเลื่อน
ขนมบุหลันดั้นเมฆนั้นเป็นขนมไทยโบราณที่เกิดขึ้นในช่วงยุครัชกาลที่ 2 ได้รับแรงบันดาลใจในการคิดค้นมาจากเพลงที่มีชื่อว่าบุหลันลอยเลื่อนซึ่งเป็นเพลงในพระราชนิพนธ์ คำว่าบุหลันก็หมายถึงพระจันทร์ ขนมชนิดนี้จึงเป็นขนมที่อยู่ในถ้วยตะไล ลักษณะภายในถ้วยจะเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินที่มีขนมสีเหลืองลอยอยู่ตรงกลาง วัตถุดิบที่เราจะต้องเตรียมประกอบไปด้วย
- ถ้วยตะไล
- ดอกอัญชัน 2 กำ นำเอาไปล้างให้สะอาดจนไม่มียาง
- น้ำร้อน 1 ถ้วยตวง
- กะทิ 120 กรัม สามารถใช้ได้ทั้งกะทิคั้นสดโดยเลือกใช้เป็นส่วนของหัวกะทิ หากใช้กะทิกล่องสามารถใช้ได้ทั้งกล่อง
- แป้งข้าวเจ้าจำนวน 110 กรัม
- เกลือครึ่งช้อนชา
- ไข่แดงเป็ด 10 ฟอง
- แป้งท้าวยายม่อมจำนวน 40 กรัม
- กลิ่นวนิลาครึ่งช้อนชา
- น้ำตาลไอซิ่ง 60 กรัม
- น้ำเชื่อม 350 กรัม หากเคี่ยวน้ำเชื่อมเองให้พักไว้จนเย็นก่อน
- น้ำเปล่าสะอาด 200 กรัม

วิธีการทำขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมโบราณสุดแปลกที่มาพร้อมกับหลายขั้นตอน
ขนมไทยอย่างขนมบุหลันดั้นเมฆนั้นเป็นขนมไทยโบราณที่ต้องยอมรับว่ามีขั้นตอนการทำที่หลากหลายและยุ่งยาก บางขั้นตอนนั้นต้องระมัดระวังให้ดีไม่เช่นนั้นขนมก็จะออกมาไม่เป็นตามต้นฉบับอย่างที่ควรจะเป็นอีกด้วย หากพูดง่าย ๆ มันคือการรวมกันระหว่างขนมน้ำดอกไม้และทองหยอด ขั้นตอนและกระบวนการทำมีดังนี้
- นำดอกอัญชันใส่ลงไปในน้ำร้อน จากนั้นทำการคั้นเป็นน้ำอัญชันเตรียมไว้ 100 กรัม
- ตั้งหม้อไฟกลาง นำเอากะทิ 120 กรัมและแป้งข้าวเจ้า 10 กรัม ผสมเข้าด้วยกันแล้วเคี่ยวจนกะทิข้น จากนั้นให้ใส่เกลือลงไปครึ่งช้อนชาแล้วพักให้เย็น
- นำไข่แดงและน้ำตาลไอซิ่งใส่ในชามผสม ตีให้เข้ากันจนน้ำตาลละลายและใสขึ้นฟอง จากนั้นใส่กลิ่นวนิลาเพื่อให้ไข่ไม่มีกลิ่นคาว ตีให้เข้ากันอีกครั้งแล้วนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางให้เนื้อเนียน
- นำแป้งข้าวเจ้าที่เหลืออีก 100 กรัมผสมกับแป้งท้าวยายม่อม จากนั้นค่อย ๆ เทน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อยแล้วคนให้เข้ากัน ใช้เวลาประมาณ 5 นาที แป้งที่ได้ก็จะเป็นแป้งที่ขึ้นเงาและไม่ติดมือ
- จากนั้นให้เทน้ำเปล่าที่เหลือ น้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ และน้ำดอกอัญชันลงไปจนหมด คนให้เข้ากันแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง
- ตั้งหม้อนึ่งให้น้ำเดือดแล้วนำถ้วยตะไลลงไปนึ่งให้ร้อน หลังจากถ้วยตะไลร้อนแล้วให้ทำการหยอดแป้งสีม่วงลงไปจนเกือบเต็มถ้วย ปิดฝานึ่งด้วยน้ำเดือดเป็นเวลา 2 นาที แป้งที่ได้ตรงขอบจะสุกและมีสีเข้ม ส่วนตรงกลางจะยังเป็นส่วนผสมที่เหลวอยู่
- ให้รีบนำเอาถ้วยตะไลออกมาแล้วคว่ำลงเพื่อให้แป้งที่ยังเหลวอยู่ไหลออกมาจนหมด จะได้ถ้วยขนมที่มีรูเป็นหลุมตรงกลาง
- นำเอากะทิที่เคี่ยวจนข้นหยอดลงไปในหลุมเล็กน้อยแล้วนึ่งต่อเป็นเวลา 1 นาที
- เปิดฝาแล้วหยอดส่วนผสมที่เป็นไข่ลงไปจนเกือบเต็มแล้วนึ่งต่อ 5 นาที เมื่อขนมสุกแล้วให้นำเอาถ้วยตะไลออก พักขนมไว้จนเย็นแล้วทำการแกะขนมออกจากถ้วยตะไล เพียงเท่านี้เราก็จะได้ขนมโบราณหารับประทานยากมารับประทานกันในครัวเรือน