ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

ขนมช่อม่วงขนมไทยที่นิยมใช้ทานกันในวังเป็นของว่างพร้อมกับผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู เป็นขนมที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นขนมที่ใช้ศิลปะและความอดทนในการทำ เพราะเป็นขนมไทยชาววัง จึงมีรูปร่างหน้าตาเป็นรูปดอกไม้ที่สวยงาม บ่งบอกถึงความประณีตตั้งใจของคนทำ อีกทั้งยังเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนขนมชาติอื่น ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้รู้จัก ซึ่งในปัจจุบันขนมช่อม่วงนั้นหาทานได้ยากมาก อาจจะเป็นวิธีการที่ยากบวกกับเป็นขนมที่มีความชื้นทำให้ไม่สามารถเก็บไว้นานได้ จึงไม่นิยมทำขายกันในปัจจุบัน

ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

วัตถุดิบการทำขนมไทยโบราณสมัยรัชกาลที่ 2 

เป็นที่รู้กันดีว่าขนมไทยชนิดนี้เป็นขนมที่หาทานได้ยาก แม้วัตถุดิบในการทำจะเยอะแต่ก็หาได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไปในปัจจุบัน บางวัตถุดิบก็มีอยู่แล้วในครัวเรือน ส่วนผสมของช่อม่วงทำมาจากแป้งถึงสี่ชนิด ทำให้มีรสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม ยืดหยุ่นสู้ฟัน เชื่อว่าหากใครได้ลองชิมแล้วจะหลงรักจนลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว

  1. แป้ง ประกอบไปด้วย แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง แป้งท้าวยายม่อม 1 ชต. แป้งข้าวเหนียว 1 ชต.แป้งมัน 1 ชต.
  2. เนื้อหมูสับละเอียด 200 กรัม
  3. หอมใหญ่หั่นเต๋า 1/2 ถ้วยตวง
  4. สามเกลอ ประกอบไปด้วย รากผักชีโขลก 4 ราก กระเทียม1 ชต.พริกไทยเม็ด 1 ชช.
  5. น้ำดอกอัญชัญ 1 ถ้วยตวง ใช้ดอกอัญชัญประมาณ 15 – 20 ดอก
  6. น้ำมะนาวสดครึ่งซีก
  7. น้ำมันพืช 2 ชต.
  8. ซีอิ๊วขาว 4 ชต.
  9. เกลือป่น 1/2 ชช.
  10. น้ำตาลทรายขาว 3 ชต.
  11. น้ำมันกระเทียมเจียว 
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส
ขนมช่อม่วงไส้หมู ขนมชาววังรสชาติครบรส

วิธีการทำขนมช่อม่วง ขนมไทยหลากหลายขั้นตอน 

ขนมช่อม่วงเป็นขนมที่มีรสชาติ หวาน มัน และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สอดไส้รสชาติเครื่องเทศสามเกลอ และเนื้อหมู เป็นขนมที่มีรสชาติอร่อยครบรสทั้งคาวและหวานในคำเดียวกัน แต่กว่าจะเป็นขนมที่เราได้รับประทานนั้น มีวิธีการทำหลายขั้นตอน

  1. เริ่มจากการผัดไส้ขนม ด้วยการนำน้ำมันเทลงไปในกระทะแล้วรอจนน้ำมันร้อน ตามด้วยการใส่ สามเกลอโขลกละเอียด หอมใหญ่ ผัดให้หอมจนหอมใหญ่ใส ตามด้วยหมูผัดต่อจนเริ่มสุกแล้วปรุงรสด้วย น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว เกลือป่น ตามลำดับลงไปผัดให้เข้ากันจนไส้แห้ง ในขั้นตอนนี้สามารถชิมแล้วปรุงรสเพิ่มได้ตามชอบ
  2. นำแป้งทั้งสี่ชนิดมาร่อนรวมกัน 2 – 3 รอบ ใส่ถ้วยอะลูมิเนียมแล้วคนให้เข้ากันจนเนียนละเอียด บีบมะนาวลงไปในน้ำอัญชันแล้วคนให้เปลี่ยนเป็นสีม่วง จากนั้นค่อย ๆ เทน้ำอัญชันลงไปในแป้งที่เตรียมไว้ ตามด้วยน้ำมันพืช คนให้ส่วนผสมเข้ากันด้วยที่ตีไข่ 
  3. นำส่วนผสมที่เข้ากันแล้วกรองใส่กระทะ เพื่อนำมากวนด้วยไฟกลางค่อนแรงกวนตลอดเวลาจนแป้งร่อน ห้ามกวนนานจนแป้งสุก เพราะจะทำให้ช่อม่วงของเราแข็งกระด้าง
  4. นำแป้งออกจากกระทะแล้วใช้ไม้พายเป็นตัวช่วยในการนวดแป้งที่ยังร้อนอยู่ให้เนียน เมื่อแป้งเย็นลงแล้วให้ใช้มือแตะน้ำมันพืชมานวดแป้งต่อจนแป้งเนียน แล้วนำผ้าขาวบางคลุมพักแป้งไว้ 30 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้แป้งแห้ง
  5. จับแป้งที่พักไว้ขึ้นมาตามขนาดขนมที่ต้องการต่อหนึ่งชิ้น นวดคลึงเล็กน้อยก่อนจะปั้นเป็นวงกลมแล้วแผ่แป้งออกมาไม่ให้บางจนเกินไป ตักไส้ขนมปริมาณ 1 ช้อนชา ใส่ลงไปในแป้งที่แผ่ออกแล้วปั้นเป็นวงกลมห่อหุ้มไส้ขนม ทำซ้ำกับแป้งและไส้ที่เหลือจนกว่าจะหมด
  6. มาถึงขั้นตอนที่ต้องอาศัยความประณีตในการทำที่สุด คือขั้นตอนการจับจีบขนมให้เป็นรูปดอกไม้ โดยใช้แหนบสำหรับจับจีบขนมจุ่มลงไปในน้ำมันพืช จับจีบแป้งสอดไส้ที่เตรียมไว้ทีละชั้นให้เป็นรูปดอกไม้สวย ๆ ประมาณ 4 ชั้น 
  7. เตรียมหม้อนึ่ง วางพื้นหม้อนึ่งด้วยใบตองแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อให้ขนมไม่ติดก้นหม้อ ต่อด้วยการวางขนมลงไปบนใบตอง นึ่งด้วยไฟอ่อน โดยใช้เวลา 5 – 7 นาที สุกแล้วให้ทาน้ำมันกระเทียมเจียว เพื่อให้แป้งหอมและไม่แข็ง จัดเสิร์ฟพร้อมผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู