
ขนมทับทิมกรอบขนมไทยที่นิยมทานคู่กับน้ำแข็งในหน้าร้อน ตัวขนมนั้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีแดงสดคล้ายเมล็ดทับทิม ต่างจากขนมไทยอื่น ๆ ที่มีในสมัยนั้น คาดว่าอาจจะเพราะเหตุนี้ทำให้ขนมชนิดนี้มีชื่อว่า “ทับทิมกรอบ” โดยเล่าขานกันว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ขนมชนิดนี้มีที่มาจากชาวญวนที่เข้ามาเป็นเชลยศึก มีนางข้าหลวงชาวญวนได้เข้ามารับราชการในห้องเครื่องในวัง และยังหวงสูตรขนมทับทิมกรอบนี้มาก จนถึงขั้นต้องล็อคประตูอย่างแน่นหนาในเวลาที่ทำขนม ทำให้คนในวังอยากได้สูตรขนมชนิดนี้เป็นอย่างมาก จนได้ออกอุบายให้พระวิมาเธอเข้าไปช่วย เพื่อให้ได้สูตรออกมาให้ทั้งคนในวังและนอกวังได้สามารถทำตามกัน และนำมาประยุกต์ดัดแปลงปรับปรุงสูตรจนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

วัตถุดิบสำหรับทำทับทิมกรอบ ขนมไทยหอมหวานชื่นใจ
เชื่อว่าคนไทยทุก ๆ คนรู้จักขนมทับทิมกรอบ และยังมีอีกหลาย ๆ คนที่เคยรับประทานขนมไทยชนิดนี้ และยังเป็นขนมไทยสุดโปรดของหลาย ๆ คนอีกเช่นกัน รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็ด้วย เพราะขนมชนิดนี้หวานอร่อยกรุบกรอบ ทานคู่กับน้ำกะทิแล้วเข้ากันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับความเย็นชื่นใจจากตัวน้ำแข็งที่ใส่ลงไป อร่อยสมกับเป็นขนมไทยยอดนิยม แต่ทุกคนรู้หรือไม่คะ ว่าขนมทับทิมกรอบที่เราได้ทานกันในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นทับทิมกรอบสำเร็จรูป จึงทำให้อร่อยน้อยกว่าทับทิมกรอบแบบทำสดใหม่ สำหรับใครที่เคยกินขนมทับทิมกรอบทั้งสองแบบนี้ จะสามารถแยกออกเลยว่าแตกต่างกันอย่างไร สำหรับใครที่เคยกินแต่แบบสำเร็จรูปก็สามารถทำทานเองได้นะคะ วัตถุดิบดังนี้เลยค่ะ
- กะทิสำเร็จรูป ปริมาณ 400 มล.
- น้ำตาลทรายขาว ปริมาณ 120 กรัม
- เกลือป่น ปริมาณ 1 ชช.
- แห้วปลอกเปลือก ปริมาณ 300 กรัม
- แป้งมัน ปริมาณ 500 กรัม
- สีผสมอาหารสีแดง ปริมาณ 1/2 ชช. (ชนิดน้ำ)
- ใบเตย ปริมาณ 3 ใบ
- น้ำเปล่า ปริมาณ 1 ถ้วย

วิธีทำทับทิมกรอบอร่อยง่าย ๆ แค่ไม่กี่ขั้นตอน
ขนมทับทิมกรอบเป็นขนมที่มีวิธีการทำที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อนเหมือนขนมไทยชนิดอื่น โดยมีขั้นตอนการทำเพียงไม่กี่ขั้นตอน ใคร ๆ ก็สามารถทำได้แม้ไม่มีความชำนาญ หรือไม่เคยทำขนมไทยมาก่อนก็สามารถทำได้ แถมยังสนุกอีกด้วย จะนำไปทำรับประทานกันในครอบครัว หรือจะทำขายสร้างรายได้ก็ดีไม่แพ้กัน เพราะเป็นขนมไทยที่ได้รับความนิยมมาก ยิ่งเป็นสูตรที่ทำจากแห้วสด ๆ แล้ว ขอรับรองเลยว่าอร่อยถูกปาก ถูกใจจนต้องขออีกถ้วยกันเลยละค่ะ
- นำแห้วที่ปลอกเปลือกแล้วทั้งหมดมาหั่นเป็นลูกเต๋าชิ้นเล็ก ๆ
- ผสมสีผสมอาหารสีแดงกับน้ำเปล่า ใส่ลงไปในแห้วที่หั่นไว้ ใช้ช้อนคลุกให้แห้วดูดสีเข้าไปจนกลายเป็นสีแดงคล้ายสีทับทิม แล้วแช่ไว้เป็นเวลาประมาณ 10 นาที
- มาต่อกันที่ขั้นตอนของการทำน้ำกะทิ ตั้งเตาด้วยไฟอ่อนใส่น้ำกะทิลงไปในหม้อ ตามด้วยใบเตยมัดเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ใส่น้ำตาลทรายขาวและเกลือลงไป คนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลายและน้ำกะทิเดือดเล็กน้อย แนะนำให้คนตลอดป้องกันน้ำกะทิแตกมัน เสร็จแล้วปิดเตาพักไว้ให้เย็น
- กรองน้ำที่แช่แห้วแล้วใส่ถ้วยแยก ให้เหลือแต่ตัวแห้ว นำแป้งมันเทลงไปในถ้วยตามด้วยแห้วคลุกให้แป้งให้ทั่วติดกับแห้วจนขาวโพลน เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะหากแป้งไม่ทั่วจะทำให้สีที่คลุกไว้ละลายออกมามากในตอนต้ม ทำให้มีสีสันที่ไม่สวยงาม
- ใช้ตระแกรงร่อนเศษแป้งส่วนเกินที่ติดอยู่ในแห้วออกเล็กน้อย
- ต้มน้ำให้เดือดและใส่แห้วลงไป ปิดฝาทิ้งไว้จนกว่าแห้วจะลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ และมีสีเข้ม และแป้งใส ใช้กระชอนตักขึ้นมาใส่น้ำเย็นจัดเพื่อให้เซตตัวและกรอบมากยิ่งขึ้น
- ตักใส่น้ำกะทิที่เราเตรียมไว้ สำหรับใครชอบทานเย็น ๆ ก็สามารถใส่น้ำแข็งเพิ่มได้นะคะ